เตือน ‘ไข้ออกผื่น’ ระบาดทั่วประเทศ

ชี้!! ไม่มียารักษา แนะฉัดวัคซีนป้องกันดีที่สุด

 

 เตือน ‘ไข้ออกผื่น’ ระบาดทั่วประเทศ

          เมื่อวันที่ 8 มีนาคม นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์หลังเปิดประชุมประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ระดับจังหวัด อำเภอและตำบล จำนวน 1,600 คน ที่ จ.นครราชสีมา ว่า ได้ย้ำเตือนให้ อสม. ใน 8 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง รวมทั้ง อสม. ทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคติดต่อในพื้นที่

 

          โดยเฉพาะ โรคหัด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าไข้ออกผื่น ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มระบาดมากขึ้นในกลุ่มประชาชนที่มีอายุมากกว่า 6 ปี โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 22 กุมภาพันธ์ 2552 สำนักระบาดวิทยา รายงานพบผู้ป่วยโรคหัดทั่วประเทศ 837 ราย กลุ่มอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป ป่วยมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ประมาณ 2 เท่าตัว

 

          “ได้ย้ำให้ อสม. เฝ้าระวังการระบาดของโรคหัด พร้อมให้ความรู้การป้องกันและดูแลเมื่อเป็นหัด เนื่องจากอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้ถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งโรคนี้มีวัคซีนฉีดป้องกันได้ผลดี โดยให้ อสม. ติดตามให้ผู้ปกครองพาเด็กอายุ 9 – 12 เดือน ไปฉีดวัคซีนป้องกันหัดเข็มแรกและฉีดเข็มที่ 2 เมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรือ อายุ 7 ปี” นายวิทยา กล่าว

 

          ด้าน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่น เกิดจากเชื้อไวรัสมีเซิลส์ (measles) พบได้ในลำคอของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่ายมากทางการไอ จาม หรือพูดกันระยะใกล้ชิด ผู้ติดเชื้อจะเป็นโรคเกือบทุกราย จะมีอาการป่วยหลังติดเชื้อประมาณ 3 – 5 วัน

 

          โรคนี้พบได้ตลอดปี พบบ่อยในกลุ่มอายุ 1 – 6 ปี ถ้าไม่มีภูมิต้านทานจะเป็นได้ทุกอายุ อาการเริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะและกลัวแสง อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้นและจะสูงเต็มที่ เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ของไข้ ลักษณะผื่นที่ขึ้นจะนูนแดง ติดกันเป็นปื้นๆ

 

          โดยจะขึ้นที่หน้า บริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขนและขา ประมาณ 2 – 3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นมีสีแดงจะเข้มขึ้น เป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง คงอยู่นาน 5 – 6 วัน กว่าจะจางหายไปหมด กินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุยด้วย ทั้งนี้ควรให้เด็กหยุดเรียน หรือแยกเด็กที่ป่วยออกจากเด็กอื่น เป็นเวลาอย่างน้อย 1 อาทิตย์

 

          นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า กลุ่มที่ต้องระวังได้แก่ เด็กที่อยู่ในสภาพยากจน อยู่ในชุมชนแออัด มีภาวะทุพโภชนาการ อาจจะมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นง่าย เช่น หูส่วนกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หรือถ่ายเหลวเป็นน้ำ ซึ่งจะทำให้เด็กขาดอาหารรุนแรงขึ้น นอกจากนี้อาจพบสมองอักเสบ โดยพบได้ประมาณ1ใน 1พันราย หากไม่เสียชีวิต อาจทำให้พิการได้

 

          โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ วิธีที่ดีที่สุด คือ ให้วัคซีนป้องกัน ปัจจุบัน สธ. ให้วัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้งฟรี ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9 – 12 เดือน โดยให้ในรูปของวัคซีนหัดชนิดเดี่ยว ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กเรียนชั้น ป.1 โดยให้ในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูมและหัดเยอรมัน

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

update 09-03-52

 

Shares:
QR Code :
QR Code