เตือน! อากาศแปรปรวน ระวัง “ไข้เลือดออก”
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตือน ช่วงที่อากาศแปรปรวน ระวังไข้เลือดออก ซึ่งพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี
สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งเตือนระวังโรคไข้เลือดออก เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ร้อน ฝนและหนาวในช่วงเวลาเดียวกัน โดยโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี (Dengue) ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ มีพาหะนำโรคคือยุงลาย พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่พบมากในฤดูฝนตามการขยายพันธุ์ของยุงลาย อาการของโรคไข้เลือดออกอาการที่สำคัญแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน 2. ระยะช็อก ไข้จะเริ่มลดลง ซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว กรณีที่รุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง และ 3. ระยะพักฟื้น อาการต่างๆจะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลงปัสสาวะมากขึ้น อาจมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกตามลำตัว ทั้งนี้ยังไม่มีวิธีรักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง การรักษามีเพียงรักษาตามอาการ และเฝ้าระวังภาวะช็อกและเลือดออกการให้สารน้ำอย่างเหมาะสมจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ รอการดำเนินของโรคจนกระทั่งผู้ป่วยฟื้นตัวและหายได้เอง อย่างไรก็ตามหากมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์โดยทันที
สำหรับการป้องกันนั้นสิ่งสำคัญ คือ การตัดวงจรการระบาดของโรคไข้เลือดออกด้วยการทำลายยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคได้แก่ 1. ควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ตรวจสอบละแวกบ้านอย่าให้มีที่น้ำขังให้ยุงวางไข่2. ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยการนอนกางมุ้ง ใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว ใช้ยากันยุง3. ทำลายยุงและตัวอ่อน โดยการใช้สารเคมีฉีดพ่นยุงลาย ใส่ทรายอะเบทในบ่อน้ำ ทั้งนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 7 ม.ค. – 21 เม.ย.61 พบว่า ผู้ป่วยสะสมของ กทม. จำนวน 1,819 ราย