เตือน ระวังอหิวาต์สุกรกลายเป็นโรคประจำท้องถิ่น
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยถึงการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในหลายประเทศขณะนี้ว่า โรคดังกล่าวไม่ติดต่อสู่คน มีแต่การติดต่อระหว่างสุกรกับสุกรเท่านั้น แต่หากปล่อยให้หลุดรอดเข้ามาได้จะส่งผลให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทยได้รับความเสียหายทั้งระบบ
น.สพ.จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยถึงการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในหลายประเทศขณะนี้ว่า โรคดังกล่าวไม่ติดต่อสู่คน มีแต่การติดต่อระหว่างสุกรกับสุกรเท่านั้น วัว ควาย สุนัข หรือสัตว์ปีกไม่เป็นพาหะนำโรค มีเพียงเห็บอ่อนที่อยู่ในจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา หากไปกัดดูดเลือดสุกรจะยิ่งทำให้เชื้อโรคกระจายได้ หมูที่ติดเชื้อจะแสดงอาการตัวร้อน ไข้สูง นอนสุมกัน ผิวหนังจะแดง มีจุดเลือดออก รอยจ้ำบริเวณใบหู ท้อง และขาหลัง ระบบหายใจหอบผิดปกติ เดินโซเซ ขาหลังเป็นอัมพาต ท้องเสียถ่ายเหลว สามารถติดต่อได้ในสุกรทุกช่วงวัย โดยเฉพาะสุกรที่ตั้งท้องจะแท้งง่าย และตายภายในระยะเวลา 14 วัน
“ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา และเชื้อไวรัสก่อโรคสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือซากได้นานหลายเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคดังกล่าวเกิดขึ้นกับไทย จึงมีการเข้มงวดกับการนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ เพราะถ้าปล่อยให้หลุดรอดเข้ามาได้จะส่งผลให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทยได้รับความเสียหายทั้งระบบ มีผลให้คนไทยต้องรับสภาวะหมูแพง เพราะหากเกิดระบาดขึ้นมา นอกจากหมูต้องตายเป็นจำนวนมาก ฟาร์มจะต้องถูกปิดตัวนานทำให้หมูขาดตลาด เนื่องจากการกำจัดเชื้อทำได้ยากมาก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุโรปและอเมริกา เกิดการระบาดไม่สามารถกำจัดเชื้อได้หมดจนกลายเป็นโรคประจำถิ่น มีการระบาดซ้ำทุก 1-2 ปี”
สำหรับแนวทางการป้องกัน น.สพ.จีระศักดิ์ บอกว่า กรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ติดตามให้คำแนะนำจัดอบรมการสังเกตอาการเกิดโรคให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และร่วมกับ กระทรวงกลาโหม กรมศุลกากร เข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าและเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ทุกช่องทางทั้งการขนส่งทางบก เรือ และอากาศ จากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนและด่านพรมแดนทั้ง 89 ช่องทาง ใน 25 จังหวัด จนกว่าสถานการณ์โรคจะหยุด นอกจากนี้ กรมยังได้จัดสรรงบเร่งด่วนไปยังศูนย์ชันสูตรใน จังหวัดลำปาง พิษณุโลก สุรินทร์ ขอนแก่น ชลบุรี เตรียมสาร-ชุดตรวจ เพื่อตรวจหาเชื้อ ในกรณีสงสัยได้โดยไม่ต้องเสียเวลาส่งมาที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ