เตือน ภัยเงียบกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์


เตือน ภัยเงียบกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน  thaihealth


แฟ้มภาพ


การเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจเฉียบพลัน เกิดจากไขมัน หรือเนื้อเยื่อที่เกาะผนังหลอดเลือดหัวใจ ปริแตก มีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดเฉียบพลันทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ 


          นายแพทย์สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ นายแพทย์สารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อาจทำให้เสียชีวิตภายใน 1 ชั่วโมงหลังเกิดอาการเช่นแน่นหน้าอก หอบเหนื่อย ใจสั่น  ให้รีบพบโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด


          สาเหตุการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจเฉียบพลัน เกิดจากไขมัน หรือเนื้อเยื่อที่เกาะผนังหลอดเลือดหัวใจ ปริแตก มีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดเฉียบพลันทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้  อาการที่สำคัญ อาการแน่นหน้าอกที่รุนแรง มีเหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง หรือแขนซ้าย จุกคอหอย บางรายมาด้วยอาการจุกใต้ลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน  การเสียชีวิตเฉียบพลันที่เกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง หลังจากเกิดอาการโรคหัวใจ เช่นอาการแน่นหน้าอก หอบเหนื่อย ใจสั่น ประมาณครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน  พบอุบัติการณ์สูงขึ้นในผู้สูงอายุและในรายที่เป็นโรคหัวใจ พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจ ไม่เคยมีอาการมาก่อน   การรักษาถ้าให้ยาละลายลิ่มเลือดภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมง หลังมีอาการหรือการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและตามด้วยการใส่ขดลวดค้ำยัน ภายในไม่เกิน   3 ชั่วโมงหลังมีอาการ จะได้ผลการรักษาที่ดีมาก  จึงควรรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทรสายด่วนฉุกเฉิน 1669  ได้ตลอด24 ชั่วโมง


          ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นพื้นฐานการก่อให้เกิดโรคนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ ชอบกินของมัน ของเค็ม ไม่กินผัก ขาดการออกกำลังกาย มีภาวะอ้วนลงพุง สูบบุหรี่จัด ดื่มเหล้าหนัก มีความเครียด นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ดังนั้นการดูแลสุขภาพป้องกันใช้หลัก "3 อ." คือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายเป็นนิจ วันละ 30 นาที อาทิตย์ละอย่างน้อย 3 วัน สร้างอารมณ์ให้เบิกบาน แจ่มใสอยู่เสมอ ไม่เครียด ลดอ้วน เลิกเหล้า บุหรี่ ทั้งหมด


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code