เตือน! ‘บุหรี่อิเล็กทรอนิก’ นิโคตินสูงกว่ามวน 20 เท่า
ชี้ สูบเพลินถึงขั้นหัวใจวายตาย!!
หมอหทัยจี้รัฐบาลออกมาตรการควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิก เผยขายกันเกร่อทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่ในเว็บไซต์จนถึงคลองถม เตือนยังไม่สามารถควบคุมปริมาณนิโคติน สูบเพลินถึงขั้นหัวใจวายตาย ด้านหมอประกิตระบุการสูบบุหรี่เป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มปัญหาโลกร้อนและปริมาณขยะ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยถึงข้อมูลที่ธุรกิจยาสูบและการสูบบุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อภาวะโลกร้อน โดยควันบุหรี่ประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน การสูบบุหรี่ทั่วโลกก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.6 ล้านตัน และก๊าซมีเทน 5.2 ล้านตันต่อปี ในขณะที่การทำไร่ยาสูบและขบวนการผลิตบุหรี่ ทำให้เกิดการทำลายป่า เพราะมีการนำฟืนไปใช้ในขบวนการผลิตบุหรี่ รวมทั้งเมื่อป่าถูกทำลายการดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะลดลง
ข้อมูลที่สำรวจโดยธนาคารโลก เมื่อ พ.ศ.2527 ทั่วโลกใช้ฟืนบ่มใบยาต่อปี เท่ากับ 175 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต้องใช้ฟืนจำนวนพื้นที่ป่าเท่ากับ 15.5 ล้านไร่ และมีพื้นที่ป่าจะต้องปลูกทดแทน 108 ล้านไร่ อันเป็นผลจากการทำไร่ยาสูบ และเนื่องจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นทุกขณะ เชื้อเพลิงที่ใช้ในการบ่มใบยาจึงยังคงเป็นไม้ฟืนจากการทำลายป่า
นอกจากภาวะโลกร้อนแล้ว การสูบบุหรี่ยังทำให้เกิดขยะในรูปของซองบุหรี่และก้นบุหรี่จำนวนมาก ก้นบุหรี่เหล่านี้ทำด้วยเซลลูโลสอะซิเตท ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่ต้องใช้เวลาย่อยสลาย 10 – 15 ปี ในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ในแต่ละปีมีก้นบุหรี่กว่า 5 ล้านล้านชิ้นทั่วโลก มีน้ำหนักรวมกันถึง 845,000 ตัน ข้อมูลจาก 91 ประเทศที่มีชายทะเลและชายหาด ในปี พ.ศ.2546 พบว่า ขยะที่เกิดจากบุหรี่อันประกอบด้วยซองและก้นบุหรี่มีปริมาณ 1 ใน 3 ของขยะทั้งหมดของชายทะเลและชายหาด
ที่สำคัญควันบุหรี่เป็นมลพิษในอากาศภายในอาคารที่อันตรายที่สุด โดยควันบุหรี่ในสิ่งแวดล้อมประกอบด้วยสารพิษมากกว่า 250 ชนิด และเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด ครึ่งหนึ่งของเด็กๆ ทั่วโลก หรือเท่ากับ 700 ล้านคน ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านและในที่สาธารณะ ในขณะที่มีคนไทย 16 ล้านคน ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน
นพ.ประกิตกล่าวว่า องค์กรแรงงานระหว่างประเทศประเมินว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองในที่ทำงาน 2 แสนคน และองค์การอนามัยโลกระบุว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองปีละ 5 แสนคน รวมถึงอายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่เริ่มสูบบุหรี่ จากแต่ก่อนอายุ 21 ปี ตอนนี้ลดลงเหลืออายุ 20 ปี
“สถิติการสูบบุหรี่ของคนไทยมีอัตราลดลง 4 ล้านคน ในระยะเวลา 20 ปี เนื่องจากกฎหมายต่างๆ ที่รัฐบาลออกมา เช่น การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ห้ามโฆษณาในสื่อต่างๆ ถือว่ามีส่วนช่วยอย่างมาก แต่ในขณะนี้มีคนหัวใสทำสารนิโคตินออกมาในหลายรูปแบบ เช่น บุหรี่อิเล็กทรอนิก ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนที่ติดบุหรี่ ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าผิดกฎหมาย และยังมีอันตรายมาก เพราะยังไม่มีการทดลองในบุหรี่ประเภทนี้ว่าในระยะยาวจะเกิดอันตรายหรือไม่ และประเทศส่วนใหญ่รวมถึงประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้นำเข้ามาขาย” นพ.ประกิตกล่าว
ด้าน นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย เผยถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตสารนิโคตินออกมามากมาย ทั้งแบบหมากฝรั่ง แบบของเหลว และแบบบุหรี่อิเล็กทรอนิก ซึ่งในผลิตภัณฑ์พวกนี้จะมีสารเคมีนิโคตินอยู่เพียงชนิดเดียว ต่างจากบุหรี่ทั่วไปตรงที่บุหรี่ทั่วไปจะมีสารก่อมะเร็งอื่น และมีควันด้วย ทำให้บุหรี่อิเล็กทรอนิกยิ่งได้รับความนิยม เพราะสามารถสูบในที่สาธารณะ เนื่องจากไม่มีควัน
ลักษณะของบุหรี่อิเล็กทรอนิก จะนำเอานิโคตินบรรจุในรูปแท่งและทำเหมือนบุหรี่จริงทุกอย่าง พอสูดลมผ่านแท่งนี้ก็จะได้รับนิโคตินเข้าไปอย่างเดียว จึงมีการเตือนว่าอย่าใช้ เนื่องจากยังไม่มีการทดลองว่าจะควบคุมปริมาณนิโคตินจากบุหรี่ประเภทนี้อย่างไร และนิโคตินของบุหรี่นี้ไม่ได้ผลิตจากนิโคตินในใบยาสูบ
นพ.หทัยกล่าวว่า ในบุหรี่ธรรมดาจะมีสารนิโคตินมวนละ 2 มิลลิกรัม แต่บุหรี่อิเล็กทรอนิกจะมีสารนิโคตินถึง 40 มิลลิกรัม หากผู้สูบขาดการควบคุมปริมาณนิโคตินหรือสูบเพลิน ก็จะทำให้ได้รับสารนิโคตินในปริมาณที่มากเกินไปจนเกิดหัวใจวายตายได้ ประเทศไทยยังไม่มีการให้นำเข้ามาจำหน่ายอย่างถูกต้อง แต่ก็มีคนลักลอบขายทางเว็บไซต์หรือตามแหล่งขายสินค้าบางแห่ง เช่น คลองถม จึงอยากให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาควบคุมเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้สูบบุหรี่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update 11-06-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก