เตือน “บารากู่” อันตรายกว่าบุหรี่ 70 เท่า
มีความเข้าใจผิดกันมานานแล้วว่า ยาเส้นจากชิชาหรือบารากู่ มีส่วนผสมที่เป็นสมุนไพร ในข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนผสมที่ใช้ในชิชาหรือบารากู่นั้น นอกจากใบยาสูบแล้ว ยังมีชิ้นส่วนของผลไม้ตากแห้ง และสารให้ความหวานอื่นๆ เช่นน้ำผึ้ง หรือกากน้ำตาล
ขณะที่ผู้สูบชิชาหรือบารากู่ มักเข้าใจว่าการสูบยาเส้นผ่านน้ำ จะทำให้ปลอดภัยมากขึ้น แต่งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์อียิปต์พบว่า การสูบผลิตภัณฑ์ยาสูบชิชา หรือบารากู่ ด้วยอุปกรณ์ที่ทำให้ควันยาสูบผ่านใต้น้ำก่อนสูดเข้าสู่ปอด มีระดับสารพิษสูงกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา โดยพบว่าการสูบชิชาหรือบารากู่ จำนวน 25 กรัม จะทำให้ร่างกายได้รับนิโคตินเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 60 มวน หรือเท่ากับสามซอง
งานวิจัยบางแห่งระบุอันตรายของการสูบชิชาหรือบารากู่ โดยรายงานว่าการสูบผ่านน้ำ ประกอบกับส่วนผสมผลไม้กลิ่นต่างๆ จะทำให้ความเข้มข้นของควันจางลง ทำให้ผู้สูบ สูบได้ลึกมากขึ้น และจำนวนมากขึ้น ซึ่งถ้าใช้เวลาสูบนาน 45 นาที จะได้รับสารทาร์เป็น 36 เท่า คาร์บอนมอนน็อกไซด์เป็น 15 เท่า และนิโคตินเป็น 70 เท่า เมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก
การสูบชิชาหรือบารากู่ ผู้สูบจะได้รับก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด, โรคหลอดเลือดแข็งตัว และโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ ผู้สูบจะมีอาการปวดศีรษะ ตามองเห็นภาพไม่ชัด, ใจสั่น, เวียนศีรษะ และมีระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดมากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ทั่วไป อีกทั้งยังอาจกระตุ้นให้เกิดหลอดลมตีบตัวในผู้ป่วยโรคหอบหืด และเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ยังพบว่าทำให้เกิดการเจริญเติบโตผิดปกติของทารกในครรภ์อีกด้วย
บทความจากเว็บไซต์อาหรับนิวส์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 ระบุว่า “ชิชา หรือ บารากู่” ส่งผลร้ายต่อร่างกายเท่ากับบุหรี่ 70 มวน (สุขสาระ มกราคม 2549) หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2546 รายงานระบุผู้สูบคิดว่าบารากู่ เป็นเครื่องมือปลุกอารมณ์ทางเพศ
ขณะที่องค์การอนามัยโลกยืนยันว่าควันบุหรี่ที่สูบผ่านน้ำแล้ว ยังคงประกอบด้วยสารพิษในระดับสูง ทั้งคาร์บอนมอนน็อกไซด์, นิโคติน และสารก่อมะเร็งชนิดต่างๆ หนังสือพิมพ์อาหรับนิวส์ฉบับประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2548 อ้างรายงาน ดร.ชับบาน ผู้ผลักดันโครงการต้านบุหรี่ในมักกะฮฺว่า มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคจากยาสูบทุกชนิด เมื่อปี 2547 ถึง 28.9 ล้านคน (สุขสาระ ธันวาคม 2548)
นอกจากนี้ ชิชาหรือบารากู่ยังเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายไทย เนื่องจากกรมสรรพสามิตไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว การสูบชิชาหรือบารากู่ในผับ, บาร์ หรือไนท์คลับ ยังจะเป็นการทำผิดต่อประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 18 ที่ห้ามสูบผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิดในผับ, บาร์ และไนท์คลับ ซึ่งรวมถึงการสูบชิชาหรือบารากู่ ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551
ถ้าการสูบบุหรี่ เหมือนเป็นการบรรจุหยิบยาพิษเข้าสู่ร่างกายฉันใด การสูบบุหรี่ผ่านน้ำเช่นที่เรียกกันว่าชิชาหรือบารากู่ ยิ่งเป็นการหยิบยื่นยาพิษเข้าสู่ร่างกายฉันนั้น ต่างกันที่ว่ายาพิษจากบารากู่นั้น รุนแรงกว่าบุหรี่ 60-70 เท่า
เรียบเรียง: อะหมัด ซอและห์
ที่มา: มูลนิธิสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย