เตือน นักท่องเที่ยวระวัง ‘แมงกะพรุนพิษ’ 18 จังหวัด
กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ห่วงการแพร่กระจายของแมงกะพรุน กว่า 9,000 สายพันธุ์ ในทะเลน้ำตื้น สั่งเฝ้าระวังกะพรุนพิษใน 18 จังหวัด แนะหากโดนจนหมดสติ-ไม่มีชีพจร ให้ปั๊มหัวใจและราดบริเวณที่โดนด้วยน้ำส้มสายชู และห้ามราดน้ำจืดหรือน้ำเปล่าเด็ดขาด
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 56 นายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทช.ได้เฝ้าระวังการท่องเที่ยวทางทะเล ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ หลั่งไหลกันเข้ามาชมความงามของทะเลไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะการแพร่กระจายของแมงกะพรุนในทะเลน้ำตื้น ซึ่งมีประมาณ 9,000 สายพันธุ์ และมีมากกว่า100 สายพันธุ์ที่มีพิษต่อมนุษย์
ทั้งนี้ จากการสำรวจของ ทช. ระหว่างปี 2553–2556 ในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน 5 จังหวัด และอ่าวไทย 13 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ตราด เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล พบแมงกะพรุนในเกือบทุกจังหวัด
โดยบพแมงกะพรุนทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษ บางชนิดทำให้เกิดอาการเจ็บหรือคันเพียงเล็กน้อย หรือเป็นตะคริว กล้ามเนื้อหดเกร็ง และเป็นเหตุให้จมน้ำง่ายขึ้น มีเพียงบางชนิดที่มีอันตรายทำให้เสียชีวิต เนื่องจากหัวใจ หรือระบบหายใจล้มเหลว เช่น chironex fleckeri ที่มีขนาดความยาวหนวด 3–5 เมตร หรือมีขนาดความสูง 8–10 เซนติเมตร สามารถทำให้ผู้ใหญ่เสียชีวิต และที่มีขนาดความยาวหนวด 1–2 เมตร สามารถทำให้เด็กเสียชีวิตได้
ดังนั้น ทช.จึงได้รณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับชนิดของแมงกะพรุนพิษและที่น่าสงสัยว่ามีพิษในน่านน้ำไทย รวมทั้งการพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสแมงกะพรุนพิษและติดตั้งท่อบรรจุน้ำส้มสายชู โดยร่วมมือกับสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยวและอุทยาน อาทิ อุทยานแห่งชาติแหลมสน จ.ระนอง เกาะระนอง เกาะพยาม หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา เกาะราชา จ.กระบี่ เป็นต้น และในพื้นที่อ่าวไทย อาทิ เกาะหมาก เกาะกูด เกาะช้าง จ.ตราด หาดแหลมแม่พิมพ์ จ.ระยอง หาดเจ้าหลาว หาดคุ้งลิมาน จ.จันทบุรี เป็นต้น
อธิบดี ทช. กล่าวด้วยว่า ทช.ได้ติดป้ายประชาสัมพันธ์การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสแมงกะพรุนพิษ ในจังหวัดที่ติดฝั่งทะเล โดยนำร่องในพื้นที่ จ.สตูล และ จ.ภูเก็ต ส่วนขั้นตอนการปฐมพยาบาลหากสัมผัสแมงกะพรุน ให้เรียกคนช่วย หรือเรียกรถพยาบาล โทร.1669 ให้ผู้บาดเจ็บนอนนิ่งๆ เพื่อลดการยิงพิษจากแมงกะพรุน ห้ามขัดถูบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน ถ้าหมดสติและไม่มีชีพจร ให้ปั๊มหัวใจและราดบริเวณที่ถูกแมงกะพรุนด้วยน้ำส้มสายชูให้ทั่วถึง อย่างน้อย 30 วินาที ห้ามราดน้ำจืด หรือน้ำเปล่า
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ