เตือนไทยเสี่ยง 13 โรคอุบัติใหม่
แนะพัฒนาเครือข่ายรับมือเข้ม
กรมควบคุมโรค เผย แนวโน้มไทยเสี่ยง 13 โรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ เหตุการเปลี่ยนแปลงประชากร การดื้อยาปฏิชีวนะ โลกร้อน แนะเร่งเตรียมพร้อมระดับสูงสุด พัฒนาเครือข่ายการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม พร้อมประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ
สพญ.ดาริกา กิ่งเนตร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า แนวโน้มโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความเสี่ยงสำหรับประเทศไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่พบในประเทศไทย อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (h1n1) 2009, โรคไข้หวัดนก จากเชื้อสายพันธุ์ เอช5เอ็น1 (h5n1), โรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อ ev71 (enterovirus 71) และโรคลีเจียนเนลโลซิส (legionellosis) 2.โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น ไข้สมองอักเสบนิปาห์ (nipah encephalitis), ไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์ (westnile encephalitis), โรคสมองฝ่อแบบใหม่ (variant-creutzfelt-jacob disease : vcjd) ที่เกิดจากจากโรคสมองฝ่อในวัวหรือโรควัวบ้า (bovine spongiform encephalophathy : bse or mad cow ddisease), ไข้เลือดออกอิโบลา (ebola haemorrhagic fever), ไข้เลือดออกมาร์บวร์ก (marburg haemorrhagic fever) ,โรคฝีดาษลิง (monkeypox), โรคแอนแทรกซ์, ไข้ทรพิษ และกาฬโรค เป็นต้น และ 3.โรคติดต่ออุบัติซ้ำที่พบในประเทศ เช่น โรคไข้กาฬหลังแอ่นจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ที่อาจเข้ามากับแรงงานต่างด้าว และโรคตาแดงจากเชื้อไวรัส
“การค้นพบโรคติดเชื้อใหม่ๆ และโรคติดต่อมาจากสัตว์ที่ไม่เคยพบมาก่อน สาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและพฤติกรรมมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของตัวเชื้อโรค การใช้ยาไม่ถูกต้องเกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะ การพัฒนาด้านเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม รวมทั้งผลจากเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของสัตว์นำโรคและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญ เหล่านี้เป็นสาเหตุให้โรคอุบัติใหม่ส่วนใหญ่มีธรรมชาติที่ซับซ้อนยากต่อการจัดการ ทั้งนี้ หากขาดระบบและเครื่องมือในการป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพแล้ว โรคเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิต และสุขภาพของประชาชน สร้างภาระอันมากมายรวมถึงส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสังคมตลอดจนเศรษฐกิจอย่างมหาศาล”สพญ.ดาริกา กล่าว
สพญ.ดาริกา กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุด ต้องเร่งรัดการเตรียมความพร้อมของประเทศในระดับสูงสุด ให้พอเพียงสำหรับการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถลดผลกระทบรุนแรงทั้งต่อสุขภาพของประชาชน สังคม และเศรษฐกิจของประเทศให้ได้มากที่สุด โดยดำเนิน 6มาตรการ คือ 1.พัฒนาเครือข่ายการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ 2.จัดทำมาตรฐานแนวทางการป้องกันและควบคุม 3.สนับสนุนการวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีการควบคุมป้องกัน 4.พัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข 5.ถ่ายทอดความรู้และข้อมูลข่าวสารโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ และ 6.สนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ทีมเฝ้าระวังสอบสวนและควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็ว (rapid response team) ในทุกระดับทั่วประเทศ เพื่อพร้อมรับกรณีเกิดการระบาด หรือมีโรคติดต่ออุบัติใหม่แพร่เข้ามาในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังต้องมีการประเมินความเสี่ยงและแนวโน้มการเกิดโรคต่างๆ เป็นระยะด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ astvผู้จัดการ
update:24-05-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มถู่