เตือน“แคปซูลผงบุก”ปลอมอันตรายถึงตาย

/data/content/23665/cms/abcdfjnoru36.jpg

 

          อย.เตือนผลิตภัณฑ์แคปซูลผงบุกปลอมอันตราย หลังพบหญิงสาวได้รับอันตรายจากการแพ้ยาอย่างรุนแรง ชี้หากซื้อมาบริโภคอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต พร้อมแนะควรลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เชื่อถือได้ และพิจารณาอ่านฉลากก่อนซื้อ

          ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวหญิงสาวซื้อแคปซูลผงบุกมาบริโภคเพื่อต้องการลดความอ้วน แต่กลับมีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง มีแผลตามเยื่อบุต่าง ๆ ผิวหนังหลุดลอกคล้ายถูกไฟไหม้ โดยเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสกลนคร แพทย์ระบุว่าเป็นอาการแพ้ยา ซึ่งจากการตรวจสอบโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พบผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของ ยาไซบูทรามีนนั้น ในส่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์แคปซูลผงบุกอันตรายดังกล่าว พบระบุเลขทะเบียนตำรับยา G 228/47 ซึ่งเป็นเลขทะเบียนยาที่ถูกยกเลิกแล้ว ถือเป็นยาปลอม

          สำหรับ กรณีการตรวจพบยาไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์นั้น ถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน เพราะปัจจุบัน อย. ได้เพิกถอนยาไซบูทรามีน ออกจากตลาดแล้ว เนื่องจากข้อมูลการทดลองทางคลินิกชี้ให้เห็นว่า ยาดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งจะเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังมีอาการที่พบบ่อยคือ ทำให้เกิด ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก เป็นต้น

          รองเลขาธิการฯ อย. ในฐานะ โฆษก อย. กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อย. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และปราบปรามอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ซึ่ง อย. ได้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดที่เป็นแหล่งขายส่งผลิตภัณฑ์ตาม กฎหมายหลายครั้งแล้ว และได้เตือนถึงอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ผงบุกแคปซูลดังกล่าวมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามการลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนสามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรับประทานอาหารให้ถูกต้องและครบทั้ง 5 หมู่ ไม่กินจุบกินจิบ หมั่นออกกำลังกายอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง อย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส นอกจากจะทำให้มีสุขภาพดีแล้ว ยังทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้อย่างยั่งยืนด้วย

          ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพจากแหล่งที่เชื่อถือได้ รวมทั้งควรพิจารณา และอ่านฉลากให้ถ้วนถี่เสียก่อน อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องแสดงฉลากภาษาไทย ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต/นำเข้า เลขสารบบ อาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. แสดงวันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดอายุของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ยา ฉลากระบุชื่อผลิตภัณฑ์ เลขทะเบียนตำรับยา ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ครั้งที่ผลิต ครั้งที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ส่วนประกอบ สรรพคุณ วิธีใช้ คำเตือน ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง วันสิ้นอายุของยา เป็นต้น หากผู้บริโภคพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง หรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนที่ สายด่วน อย. โทร. 1556

 

 

 

          ที่มา : เว็บไซด์กระทรวงสาธารณสุข

          ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code