เตือนเด็ก-ชรา ชะล่าใจ อาจถึงตายประตูรถหนีบ

ผู้เชี่ยวชาญคาดสาเหตุประตูหนีบคอคนขับรถทัวร์จนเสียชีวิต มาจากมีการดัดแปลงระบบควบคุมประตูอัตโนมัติ รวมถึงประมาทและไร้ความชำนาญในการใช้อุปกรณ์ภายในรถ เตือนเด็ก-คนแก่ระมัดระวังเป็นพิเศษ แนะติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ที่ประตูรถทุกคัน

นายธานี สืบฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ (ผชว.) กรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงกรณีคนขับรถถูกประตูระบบอัตโนมัติของรถทัวร์ที่ตนเองเป็นผู้ขับ หนีบเข้าที่ลำคอและลำตัวจนเสียชีวิต ล่าสุดเหตุเกิดบริเวณซอยเกษตรสิน 4 ทางเข้าโรงแรมเมาเทนบีช หมู่ที่ 11 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ว่า สาเหตุน่าจะมาจากคนขับมีการไปปรับหรือดัดแปลงระบบควบคุมอัตโนมัติของประตูรถ เช่น การปรับความหนืดของประตูเพื่อยืดระยะเวลาการปิดให้มากขึ้นพอที่จะวิ่งออกมาได้ ทำให้ระบบอัตโนมัติของประตูรถไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงเกิดเหตุสลดดังกล่าวขึ้น

เขากล่าวว่า ในส่วนของกรมการขนส่งทางบกได้ทำการตรวจสอบรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางที่ใช้ประตูระบบอัตโนมัติอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2551 กระทรวงคมนาคมได้เคยออกประกาศเกี่ยวกับระเบียบในการติดตั้งประตูอัตโนมัติของรถโดยสารสาธารณะประจำทางที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ที่กำหนดให้ประตูระบบอัตโนมัติของรถทุกคันเมื่อกดสวิตช์ปิดแล้วจะต้องสามารถเด้งกลับออกมาได้เมื่อมีคนไปยืนอยู่บริเวณประตู และทำการดันประตูออกมา ส่วนรถโดยสารไม่ประจำทางที่วิ่งอยู่ตามต่างจังหวัดก็ได้มีประกาศออกมาแล้วเช่นเดียวกันเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ปีที่ผ่านมา

ด้าน ผศ.ธีรภัทร หลิ่มบุญเรือง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า จากที่ได้ติดตามข่าว รู้สึกแปลกใจเกี่ยวกับสาเหตุที่ประตูเกิดการปิดเข้ามาเอง โดยงงว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

ทั้งนี้ คาดว่าอาจเป็นเพราะคนขับยังไม่มีความชำนาญในการใช้อุปกรณ์ภายในรถ ที่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นระบบอัตโนมัติเกือบทั้งหมด เพราะภายหลังเกิดเหตุ พบว่าระบบประตูยังคงใช้งานได้อยู่ รวมไปถึงคนขับเองอาจเกิดความประมาทที่ไปกดสวิตช์ปิดประตูพร้อมกับวิ่งออกมาโดยคิดว่าน่าจะออกทัน

นอกจากนี้ อาจจะเกิดจากระบบไฟฟ้าที่ใช้ควบคุมสวิตช์ประตูเกิดการชอร์ต ส่งผลให้ประตูปิดเข้ามาเองขณะคนขับกำลังวิ่งออกจากรถ ซึ่งคงต้องรอผลการตรวจสอบที่แน่ชัดจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วรถทัวร์ที่ใช้ประตูระบบอัตโนมัติแบบนี้ ส่วนมากจะเป็นระบบกระบอกสูบหรือใช้ลมในการควบคุม เรียกว่าระบบไฮดรอลิก โดยจะใช้วิธีการกดสวิตช์ทางฝั่งขวาของคนขับ เพื่อทำการอัดกระบอกสูบลมในการเปิด-ปิดประตูอัตโนมัติ ซึ่งสามารถตั้งเวลาในการเปิด-ปิดประตูรถได้ด้วยการปรับความหนืดของประตูให้มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ประตูปิดเข้ามาช้าลง จึงน่าจะเป็นไปได้ที่คนขับอาจจะไปกดสวิตช์เพื่อปิดประตูแล้ววิ่งออกมาไม่ทัน เนื่องจากคำนวณระยะเวลาการปิดของประตูผิดพลาดจนถูกประตูหนีบเสียชีวิตดังกล่าว ประกอบกับการที่ในปัจจุบันรถที่ใช้ประตูอัตโนมัติส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบเซ็นเซอร์ในการตรวจจับคนเข้า-ออกจากประตูอีกด้วย

“เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุดคือเกิดเหตุคนขับรถถูกประตูอัตโนมัติของรถโดยสารปรับอากาศขนาด 42 ที่นั่งที่ตนเป็นผู้ขับ หนีบทับบริเวณลำคอและลำตัวจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา บริเวณลานจอดรถโบ๊ทลากูน ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็น 2 เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันคือ คนขับรถถูกประตูที่อยู่ฝั่งตรงข้ามคนขับหนีบร่างจนเสียชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นภายในปีเดียวกันด้วย อีกทั้งสาเหตุมาจากความประมาทและไร้ประสบการณ์ของคนขับเองทั้งสิ้น”

 ผศ.ธีรภัทร กล่าวว่า สำหรับรถโดยสารปรับอากาศสาธารณะทั้งที่ให้บริการอยู่ในกรุงเทพฯ และที่วิ่งอยู่ในต่างจังหวัด ที่ในปัจจุบันแทบทุกคันได้ใช้ประตูระบบอัตโนมัตินั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อย่างมาก วิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้คือ รถที่ใช้ประตูระบบอัตโนมัติทุกคันควรมีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ที่ประตูเพื่อตรวจสอบคนเข้า-ออก เพื่อความปลอดภัย

หากเกิดความประมาทของผู้ควบคุมแผงสวิตช์ประตูขึ้นอีก ประตูจะได้หยุดการทำงานได้ทันท่วงที พร้อมทั้งควรหมั่นตรวจตราการทำงานของประตูรถระบบไฮดรอลิกอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพ รวมถึงผู้ขับขี่เองไม่ควรประมาท โดยควรจะมีคนอยู่ในรถอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป เพื่อช่วยกันเฝ้าระวังเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น และควรเรียนรู้กลไกการทำงานของอุปกรณ์ภาย ในรถทุกชิ้นอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะที่มีชีวิตของประชาชนเป็นเดิมพัน นอกจากนี้ ประชาชนโดยเฉพาะเด็กนักเรียน เยาวชน และผู้สูงอายุควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ