เตือนเครื่องดื่มริมทางปริมาณน้ำตาลสูง

ที่มา : คมชัดลึก 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เตือนเครื่องดื่มริมทางปริมาณน้ำตาลสูง thaihealth


นักวิชาการสำรวจเครื่องดื่มริมทางย่านเศรษฐกิจเมืองกรุง ทั้งน้ำแดงโซดา-กาแฟเย็น-ชาเย็น รวมทั้งน้ำผลไม้ น้ำสมุนไพร พบปริมาณน้ำตาลสูงเกินร่างกายต้องการในแต่ละวัน เตือนบริโภคมากนำไปสู่โรค เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจได้


เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ทำโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย ภายใต้แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า หลังจากมีการเก็บภาษีความหวานมีส่วนช่วยให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีฉลากสินค้าประเภทน้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มเกลือแร่ ปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลลงก็จริงแต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพฤติกรรมการบริโภคหวานในกลุ่มคนไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว เนื่องจากได้สำรวจพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มหวานจากผลการวิจัยบนถนนราชวิถีรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และถนนสีลม พบว่าเครื่องดื่มตามร้านค้าริมทางมีความหวานไม่ต่างอะไรจากน้ำอัดลม โดยเครื่องดื่มริมทางพวกเครื่องดื่มชง เช่น กาแฟเย็น ชาเย็น น้ำแดงโซดา ยังเป็นเครื่องดื่มซึ่งมีร้านหนาแน่นในย่านถนนเศรษฐกิจ โดยร้านเครื่องดื่มบริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือวิทยาเขตพญาไท และถนนสีลม ตามลำดับ ซึ่งมาจากความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความนิยมของบุคคล


ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม 1 แก้ว ปริมาณ 250 มล. จากตัวอย่างร้านค้า 62 ร้านค้า โดยเก็บตัวอย่างเมนูยอดนิยม 1 ใน 5 อันดับ และเครื่องดื่มที่มาจากร้านที่ให้ความร่วมมือในการวิจัยรวม 270 ตัวอย่าง ผลการสำรวจพบว่าเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1.แดงโซดา ปริมาณน้ำตาล 15.5 ช้อนชา 2.โอวัลติน 13.3 ช้อนชา 3.ชามะนาว 12.6 ช้อนชา 4.ชาดำเย็น 12.5 ช้อนชา และ 5.นมเย็น 12.3 ช้อนชา ส่วนชาเย็น กาแฟเย็น ชาเขียวเย็น มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 11 ช้อนชา และโกโก้มีปริมาณน้ำตาล 10.8 ช้อนชา ซึ่งหมายความว่าหากบริโภคเครื่องดื่มหวาน 1 แก้ว ปริมาณ 250 มล. ก็มีปริมาณน้ำตาลที่เกินความต้องการที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน


ด้าน รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เครื่องดื่มริมทางมีกลุ่มคนวัยทำงาน กลุ่มนักศึกษา เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ด้วยราคาที่ไม่แพงมากรวมทั้งมีกลยุทธ์ล่อใจ โดยพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มหวานบนถนนสายเศรษฐกิจยังสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนวัยทำงานและนักศึกษา ซึ่งถือเป็นแรงงานที่สำคัญของประเทศเพราะเป็นกลุ่มผลิตภาพหลักในการสร้างรายได้ของประเทศ จึงเป็นตัวชี้วัดถึงสัญญาณอันตรายโดยไม่รู้ตัว เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารอาหารน้อย มีแต่น้ำตาลและไขมันในปริมาณสูง ซึ่งเป็นรากของกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) ทั้งเบาหวาน ความดัน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว


"อย่างน้ำผลไม้ หรือน้ำสมุนไพร ที่ ขายตามข้างทางถึงจะมีวิตามินมีสารต้าน อนุมูลอิสระจากผักและผลไม้ แต่ในรูปแบบ ที่ร้านค้าวางขายนั้นอยู่ในระดับที่เจือจางมาก คือแทบจะไม่ได้รับคุณค่าดังกล่าวนั้นเลย แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือปริมาณน้ำตาล ดังนั้นระหว่างที่เครื่องดื่มซึ่งมีฉลากในร้านสะดวกซื้อกำลังปรับตัวตามกฎหมายการเรียกเก็บภาษี ผู้บริโภคก็ต้องฉลาดเลือกที่จะรับประทานเครื่องดื่มริมทางด้วย และแม้ทุกวันนี้แต่ละร้านจะปรับสูตรหรือสร้างทางเลือกให้มีสูตรเครื่องดื่มหวานน้อย แต่ผู้บริโภคก็ต้อง พิจารณาด้วยตัวเองอยู่ดีว่าเท่านั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะตัดสินใจซื้อบริโภค" รศ.ดร.ประไพศรี กล่าว


รศ.ดร.ประไพศรี ยังกล่าวถึงพฤติกรรมการบริโภคของเด็กสามารถสร้างได้โดยเริ่ม ตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่การบริโภคนมผงต่อจากนมแม่ การรับประทานอาหาร ขนม ตั้งแต่อยู่ที่บ้าน หากเกิดความเคยชินกับรสหวาน คือต้องหวานถึงจะเรียกว่าอร่อย ก็จะทำให้ติดรสหวานและเพิ่มปริมาณการบริโภคน้ำตาลมากขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรตระหนักถึงปัญหาสุขภาพที่จะเกิดกับลูกหลานในวัน ข้างหน้า โดยการเลือกนมหรืออาหารต่างๆ ให้ดี และปรุงอาหารโดยที่ไม่ต้องเติมน้ำตาล รวมทั้งควรสร้างนิสัยและความรู้เท่าทันให้ เด็กได้เลือกหรือตัดสินใจเอง เพื่อไม่หลงใหลไปกับกระแสและการเชิญชวนของโฆษณาอาหารที่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code