เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรระวังติดเชื้อร้าย

 

สัตวแพทย์เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ระวังเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค เนื่องจากสุกรทุกช่วงอายุจะพบเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส ซูอิสที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษในคนได้ และสามารถติดต่อจากสุกรถึงคนได้ทางบาดแผลที่ผิวหนัง

รศ.น.สพ.ดร.ศุภชัย เนื้อนวลสุวรรณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้เชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค คือ สเตรปโตคอคคัส ซูอิส (streptococcus suis) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถพบได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น โค กระบือ แพะแกะ ม้า นก เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในสุกรทุกช่วงอายุ โดยจะพบบ่อยมากขึ้นตามอายุของสุกรไล่ตั้งแต่ระยะหย่านมจนถึงระยะขุน แม้ว่าเชื้อนี้จะก่อโรคในสุกรในอัตราต่ำ หรือร้อยละ 5 แต่กลับพบได้ในสุกรที่สุขภาพแข็งแรงเกือบทุกตัว แม้ว่าเชื้อนี้มีมากกว่า 30 serotype แต่ที่พบก่อโรคอาหารเป็นพิษในคน คือ serotype 2 ในบางสายพันธุ์เท่านั้น

น.สพ.ศุภชัย กล่าวต่อว่า เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวสามารถติดต่อสู่คนได้ โดยเชื้อเมื่อเข้าสู่ทางเดินอาหารของลูกสุกรช่วงระยะดูดนม  มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ โดยกระแสเลือด เช่น สมอง ทางเดินหายใจ แขนขา ข้อต่อ เป็นต้น ดังนั้น กลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงได้รับจุลินทรีย์ก่อโรค คือ ผู้เลี้ยงสุกร พนักงานในโรงฆ่าสัตว์ สัตวแพทย์ ที่ทำงานใกล้ชิดกับสุกรทั้งที่มีชีวิตตลอดจนถึงซากและเนื้อสุกร ดังนั้น การติดต่อจากสุกรถึงคน จึงเป็นไปได้ 2 ทางสำคัญ ดังนี้

1. บาดแผลที่ผิวหนัง เช่น การเลี้ยง การขนส่ง การชำแหละซากสุกร เป็นต้น 

2. อาหารที่ไม่สุกทั่วถึงกัน เนื่องจากเชื้อนี้มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้ดี ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ซากหรือเนื้อสุกรจะมีการปนเปื้อนด้วยจุลินทรีย์ก่อโรคจากอวัยวะภายในของสุกรในระหว่างการฆ่า การขนส่ง การชำแหละซากที่เขียงตามตลาดด้วย

น.สพ.ศุภชัย  กล่าวต่อไปว่า สำหรับอาการก่อโรคในคน เมื่อจุลินทรีย์ก่อโรคผ่านเข้าสู่ร่างกายทั้งทางบาดแผลหรือทางเดินอาหาร ก็จะมีการเพิ่มจำนวนและกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายโดยการติดเชื้อทางกระแสโลหิต ทำให้เกิดการอักเสบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมอง อาการเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ หูหนวก ซึ่งพบมีการรายงานในประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภาคเหนือ เพราะฉะน้นการควบคุมป้องกันเชื้อนี้เจ้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ดังนี้

1.เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องสวมเครื่องป้องกันร่างกาย และการล้างทำความสะอาดส่วนต่างๆ ของร่างกาย ภายหลังการสัมผัสกับสุกร ซากหรือเนื้อสุกร เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไปยังสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย 

2.การรับประทานอาหารที่สุกอย่างทั่วถึงกัน แม้ว่าจุลินทรีย์จะมีความทนทานในสิ่งแวดล้อม แต่ความร้อนในการปรุงอาหารสามารถทำลายแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code