เตือนอันตราย ‘ฝนกรด’!!

หลากผลกระทบต่อมนุษย์…สิ่งแวดล้อม

 

เตือนอันตราย ‘ฝนกรด’!!

แม้ตอนนี้พื้นที่โดยรอบเมืองหลวง จะเริ่มมีลมหนาวพัดผ่านมาให้สดชื่นเย็นใจ ทั้งในยามเช้ามืด และพลบค่ำ… แต่ตามภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคใต้ของประเทศยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง สร้างความชุ่มฉ่ำให้ทั้งผืนดิน และผู้คน ที่สัญจรไปมา

   

ยามฝนตกคราใด ภาพกิจกรรมที่เรามักจะพบเห็น  จนชินตาย้อนไปสมัยเมื่อสิบปียี่สิบปีก่อน นอกจากการวิ่งเล่นน้ำฝนอย่างสนุกสนานของเด็ก ๆ แล้ว คงหนีไม่พ้นภาพของพ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา พากันเตรียมโอ่ง เตรียมกะละมังเพื่อคอยรองน้ำฝนเก็บไว้ใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งแน่นอนว่า น้ำฝนที่รองได้ ยิ่งเก็บไว้นานวัน เมื่อลองตักมาชิมดู จะมีรสชาติหวาน ดื่มแล้วชื่นใจ…

   

แต่ปัจจุบัน ด้วยความแปรเปลี่ยนสภาวะสิ่งแวดล้อม การเพิ่มขึ้นของภาวะมลพิษในอากาศทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ฝนกรดขึ้นซึ่งคำคำนี้หลายคนคงเคยได้ยินและทราบกันมาบ้างแล้ว ว่าเกิดจากสาเหตุใดรวมทั้งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  และสุขภาพของเราอย่างไร บ้าง แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่ายัง มีอีกหลายคนที่ยังไม่ทราบถึงวิธีป้องกันแก้ไขภาวะฝนกรดว่าจะทำได้อย่างไร…??

   

ศากุน เอี่ยมศิลา นักวิชาการสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญกองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ว่า ปกติแล้วฝนที่ตกลงมาจะมีสภาพความเป็นกรดอ่อน ๆ เล็กน้อยอยู่แล้วซึ่งไม่ได้เป็นอันตรายต่อมนุษย์มากนัก โดยจะมีค่าความเป็นกรด-ด่างหรือค่าพีเอช (ph) ประมาณ 5.6 ถือเป็นตัวเลขมาตรฐานของน้ำฝน

   

แต่สาเหตุที่ทำให้เกิด  ฝนกรด” (Acid Rain)  คือ การที่มีแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย ตามท้องถนนมีรถจำนวนมากจอดติดสัญญาณไฟจราจรก่อให้เกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิงเครื่องยนต์และโรงงานต่าง ๆ มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ได ออกไซด์ และก๊าซออกไซด์ ของไนโตรเจน เข้าสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมากกลายเป็นกรดซัลฟิวริก และกรดไนตริก ประกอบกับมีตึกสูง บ้านช่องเรียงรายแออัดบดบังอากาศทำให้ไม่มีอากาศถ่ายเท เมื่อฝนตกลงมาสารพิษเหล่านี้จะรวมตัวกันกลายเป็นฝนกรดที่มีค่าพีเอชต่ำกว่า 4 และ ตกลงมายังผิวโลกกลายเป็นฝนกรด โดยก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ส่วนใหญ่ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทต่าง ๆ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานมาให้มนุษย์ใช้ในทุกวันนี้

   

จากข้อมูลการสำรวจพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยของกรมควบคุมมลพิษในปี 2548 พบว่า พื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดฝนกรดนั้นต้องเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมและการจราจรหนาแน่น ซึ่งตามต่างจังหวัดนั้นส่วนใหญ่จะมีค่าไม่เกินกว่าที่กำหนดจึงไม่มีปัญหาเรื่องฝนกรด แต่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครซึ่งมีจำนวนรถมาก มีตึกสูง อากาศถ่ายเทไม่สะดวก จากการวัดค่าพีเอชสามารถวัดได้ 4.9 และทำให้มีแนวโน้มเกิดฝนกรดมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการเกิดฝนกรดตลอดเวลาแต่มักเกิดเป็นบางช่วงบางเวลา ถ้าช่วงเวลาใดมีลมพัดผ่านอากาศถ่ายเทสะดวกก็จะทำให้เจือจางลง แต่หากช่วงเวลาใดมีสภาวะอย่างที่กล่าวมาข้างต้นก็จะทำให้เกิดฝนกรดได้

   

ฝนกรดจากมลพิษในอากาศอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนผิวหนังบอบบางเมื่อโดนฝนกรดเล็กน้อยก็จะเกิดอาการแพ้หรือเกิดผื่นคันและถ้ามีความเป็นกรดสูงจะมีผลทำให้ผิวหนังส่วนที่บอบบางที่สุดเกิดการระคายเคือง เช่น ตามเนื้อเยื่ออ่อน ๆ เปลือกตา ทำให้มีอาการแสบตาและคันตามผิวหนัง ซึ่งการเกิดฝนกรดนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์น้อยมาก แต่สิ่งที่ได้ รับผลกระทบจริง ๆ คือ ดิน พืชไร่ แหล่งน้ำ ต้นไม้ สัตว์น้ำและที่อยู่อาศัยของมนุษย์

   

ผลกระทบที่มีต่อดิน  ก็คือ ฝนกรดจะไปทำการชะล้างละลายปุ๋ยและสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชออกไป ทำให้มีการเจริญเติบโตช้าและแห้งกรอบล้ม   ตายในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังไปละลายสารพิษที่อยู่ในดิน เช่น อะลูมิเนียมและปรอทไหลลงสู่แหล่งน้ำก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำที่อยู่อาศัยในน้ำ ทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จึงเกิดการล้มตายและถือเป็นการทำลายระบบนิเวศในน้ำด้วย

   

ส่วนผลกระทบต่อต้นไม้ ที่นอกจากสารอาหารในดินจะถูกชะล้างไปแล้วฝนกรดยังเป็นอันตรายต่อใบ ของพืช โดยจะถูกกัดกร่อนใบ  ทำให้เป็นรูโหว่ จนขาดความสามารถในการผลิตอาหารจากการสังเคราะห์ด้วยแสงและมีเชื้อโรคต่าง ๆ ผ่านเข้า  ทางแผลของใบ ทำให้ต้นไม้อ่อนแอและล้มตายในที่สุด สำหรับผลกระทบที่มีต่อสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาเกิดปลวกขึ้นตามไม้จากสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ ฝนกรดอาจสร้างความรุนแรงต่อสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ โดยสิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ ปูนที่ถูกฝนกรดจะละลายออกมาทำให้เกิดความเสียหายจนบางครั้งไม่สามารถซ่อมแซมได้และสุดท้าย ผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จะรุนแรงในด้านทางเดินหายใจ โดยในอากาศ กรดเหล่านี้อาจไปรวมตัวกับสารเคมีอื่น ๆ ก่อให้เกิดหมอกควันที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและทำให้หายใจลำบาก โดยเฉพาะกับคนที่เป็นโรคหอบหืด หรือโรคทางเดินหายใจอยู่แล้ว

   

เราสามารถสังเกตฝนกรดด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการ  ปีนขึ้นไปดูหลังคาบ้านแล้วเปรียบเทียบกับหลังคาบ้านเขตอื่น ๆ หากฝนมีกรดมากสารพิษจะกัดกร่อนให้หลังคาบ้านผุและพังเร็ว เช่น บ้านที่อยู่ใกล้เขตอุตสาหกรรมหลังคาจะมีการผุเร็วกว่าที่อื่นและหากเราจะดื่มน้ำฝนควรหลีกเลี่ยงน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ที่มีแหล่งอุตสาหกรรมหรือในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ไม่ควรรองน้ำฝนมาดื่มกิน ซึ่งในปัจจุบันมีน้ำประปาสามารถดื่มกินได้แล้ว ควรจะดื่มน้ำประปาจะดีกว่า แต่ถ้าต้องการดื่มต้องรอให้ฝนตกหนักประมาณ 3-4 วันติดต่อกันเสียก่อนแล้วจึงค่อยกรองน้ำฝนมาดื่มกินเพราะฝนที่ตกลงมาวันแรกยังมีสารพิษเจือปนอยู่

   

สำหรับชาวบ้านตามต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลแหล่งอุตสาหกรรมหรือนอกเมือง จะรองน้ำฝนมาดื่มกินนั้นมีข้อจำกัด โดยต้องรอให้ฝนตก สักระยะหนึ่งก่อนจึงค่อยรองมาดื่มกิน ไม่ควรรองน้ำฝนที่ตกใหม่ ๆ มาดื่มทันทีและควรล้างรางน้ำฝน รวมทั้งหลังคาให้สะอาดเสียก่อน แต่ต้องระวังเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับน้ำฝนด้วยโดยการต้มน้ำให้สุกก่อนนำมาดื่มกินเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้เราสามารถตรวจวัดความเป็นกรดด้วยวิธีใช้กระดาษวัดค่าพีเอชที่หาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ซึ่งจะทำให้เราสามารถตรวจดูค่าความเป็นกรดได้อย่างคร่าว ๆ ก่อนนำมารับประทาน

   

สำหรับวิธีการป้องกันฝนกรดที่จะมีผลกระทบต่อ ร่างกายของเรา ถ้าผู้ที่มีสภาพผิวบอบบางอย่าเดินตากฝนหรือควรจะพกร่มหรือเสื้อกันฝนติดตัวไว้ หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วควรรีบอาบน้ำชำระร่างกายทันที แต่ส่วนมากฝนกรดจะไม่มีอันตรายต่อผิวของมนุษย์เท่าใด เพราะสระว่ายน้ำที่เราว่ายน้ำกันก็มีสภาพความเป็นกรด ซึ่งวิธีการแก้ไขการเกิดฝนกรดอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การลดจำนวนปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตร เจนออกไซด์ที่จะเข้าสู่บรรยา    กาศจากโรงงานไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปและยานพาหนะ โดยทางโรงงานจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการเกิดก๊าซซึ่งจะต้องมีอุปกรณ์ ในการดักจับอย่างถูกต้อง

   

ดังนั้นการแก้ไขที่ต้นตอนั่นคือตัวเราเอง โดยเราสามารถช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าให้เกิดการเผาไหม้น้อยที่สุดได้ เช่น การเปิดเครื่องปรับอากาศให้น้อยลง ปิดไฟเมื่อไม่ใช้ ใช้รถยนต์ให้น้อยลงหรือเปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติ เพียงแค่เราร่วมมือกันคนละนิด ไม่ก่อให้เกิดการผลิตของเสียและการเผาไหม้ การเกิดฝนกรดก็จะลดน้อยลงไปโดยปริยาย

   

ร่วมกันปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามและเป็นแหล่งอาหารของประเทศชาติกันเสียตั้งแต่วันนี้โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน….

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update: 04-12-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

 

Shares:
QR Code :
QR Code