เตือนอันตรายจาก “น้ำแข็งแห้ง”

ระวัง!! ใช้ผิดวิธีมีภัยถึงชีวิต

 

 

เตือนอันตรายจาก “น้ำแข็งแห้ง”           กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนผู้นำน้ำแข็งแห้งไปใช้ประกอบกิจกรรมต่างๆ ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ห้ามใช้มือเปล่าสัมผัสน้ำแข็งแห้งโดยตรง เพราะจะทำให้ผิวหนังไหม้จากความเย็นจัด ควรสวมถุงมือหรือใช้กระดาษห่อ 

 

           ตลอดจนไม่ควรจัดเก็บน้ำแข็งแห้งไว้ในภาชนะหรือห้องที่ไม่มีช่องระบายอากาศ เพราะเสี่ยงต่อการระเบิด โดยเฉพาะขณะขนส่งควรจัดเก็บแยกกับห้องโดยสาร เพราะน้ำแข็งแห้งจะระเหิดออกมาเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ทำให้ขาดอากาศหายใจเสียชีวิต

 

           นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการนำน้ำแข็งแห้งมาใช้มากขึ้น ทั้งในภาคอุตสาหกรรม การถนอมอาหารในขั้นตอนการผลิต การขนส่งและจัดเก็บ รวมถึงทำหมอกควันประกอบการแสดงต่างๆ หากนำน้ำแข็งแห้งมาใช้อย่างไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยเมื่อน้ำแข็งแห้งระเหิดจะไม่หลอมละลายเป็นของเหลวเหมือนน้ำแข็งทั่วไป แต่จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ให้ความเย็นมากกว่าน้ำแข็งทั่วไป 2 – 3 เท่า 

 

           กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอแนะวิธีป้องกันอันตราย โดยปฏิบัติ ดังนี้ 

 

           เนื่องจากน้ำแข็งแห้งจะให้ความเย็นมากกว่าน้ำแข็งทั่วไป หากใช้มือเปล่าสัมผัสโดยตรงอาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้ ควรใช้ถุงมือหรือกระดาษห่อก่อนสัมผัส กรณีถูกน้ำแข็งกัด ให้ล้างมือโดยเร็วด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากและไปพบแพทย์ทันที

 

           การจัดเก็บ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ห้ามจัดเก็บน้ำแข็งแห้งปริมาณมากๆ ในห้องแคบหรือห้องที่มีเพดานต่ำ ซึ่งมีระบบระบายอากาศไม่ดีพอ เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะระเหิดออกมาแทนที่ก๊าซออกซิเจน อาจทำให้ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ 

 

           ตลอดจนห้ามนำน้ำแข็งแห้งไปบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท เพราะเมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระเหิดออกมาและสะสมถึงระดับหนึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงดันถึงขั้นระเบิดได้ อีกทั้งไม่ควรนำน้ำแข็งแห้งไว้ในตู้เย็นอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ระบบทำความเย็นหยุดการทำงาน เนื่องจากน้ำแข็งแห้งมีความเย็นมากกว่าความเย็นในตู้เย็น 

 

           การขนส่ง ไม่ควรจัดเก็บไว้ในห้องโดยสารรถยนต์ เก็บไว้ในภาชนะที่มีช่องระบายอากาศ เพื่อป้องกันการระเบิด หากจำเป็นต้องขนส่งในห้องโดยสาร ควรเปิดกระจกทุกด้าน เพื่อให้มีก๊าซอ๊อกซิเจนจากภายนอกไหลเวียนเข้ามาภายในรถ รวมทั้งป้องกันการขาดอากาศหายใจจากการระเหิดของน้ำแข็งแห้ง 

 

           การนำไปใช้งาน ห้ามนำน้ำแข็งแห้งมาเป็นอุปกรณ์ในการเล่นสนุก โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากนำน้ำแข็งแห้งไปใช้ประกอบการแสดงคอนเสิร์ตหรือละครเวที ควรจัดให้มีระบบระบายอากาศด้านล่างที่ดี เนื่องจากเมื่อน้ำแข็งแห้งระเหิดจะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าอากาศ ทำให้ลอยอยู่ในระดับต่ำ 

 

           ไม่ควรนำน้ำแข็งแห้งไปใช้ผสมในเครื่องดื่ม เพื่อให้เกิดฟอง ความเย็นหรือนำไปรับประทานอย่างเด็ดขาด ควรนำไปใช้ในการถนอมอาหารหรือเพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยนำน้ำแข็งแห้งห่อกระดาษอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันการสัมผัสถูกน้ำแข็งแห้งโดยตรง ตลอดจนหากต้องแบ่งน้ำแข็งแห้งควรระมัดระวังน้ำแข็งแห้งกระเด็นเข้าตา ที่สำคัญ ควรจัดเก็บให้พ้นมือเด็กเพื่อป้องกันการหยิบมาเล่น และเมื่อใช้งานเสร็จแล้วควรนำไปทิ้งในถังขยะทันที 

 

           แม้น้ำแข็งแห้งจะมีประโยชน์ แต่หากนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ และไม่ถูกวิธี นอกจากจะทำให้ผิวหนังถูกทำลายแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจอีกด้วย

 

 

 

 

 

ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

 

 

update 06-08-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

 

อ่านเนื้อหาทั้งหมดในคอลัมน์คลิกที่นี่

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code