เตือน”สักลาย”เสี่ยงติดโรค”ไวรัสตับอักเสบ-เอดส์”

ระวังสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ชั้นเนื้ออาจเกิดอันตรายได้

 

เตือน”สักลาย”เสี่ยงติดโรค”ไวรัสตับอักเสบ-เอดส์”          จิตแพทย์ชี้คนสักลายไม่ถือเป็นผู้ผิดปกติทางจิต แต่ทำให้จิตใจหยาบกร้านได้ แนะผู้พิสมัยลายสักไม่ควรละเลยความสะอาดและต้องระวังสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ชั้นเนื้ออาจเกิดอันตรายได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรสักลายให้กับเด็กโดยเด็ดขาด

 

          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกรมสุขภาพจิต บอกว่า ในทางการแพทย์แล้วผู้ที่สักลายส่วนใหญ่จะไม่ถือว่าเป็นผู้ผิดปกติทางจิตเพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องความเชื่อส่วนตัว บางคนก็ชอบศิลปะแต่ไม่อยากซื้อภาพเขียนกลับนำภาพที่ชอบมาสักลงบนร่างกายของตัวเอง และที่สำคัญในช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นแฟชั่นเพราะมีดาราชื่อดังทั้งไทยและต่างประเทศนิยมสักลาย ดังนั้นกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาวซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ชอบทำตามแฟชั่นจึงถือเอามาเป็นแบบอย่าง

 

          การสักเป็นเรื่องของความต้องการให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อนฝูง แต่เมื่อสักไปแล้วเกิดความรู้สึกว่าผิดพลาด ก็จะทำให้คนคนนั้นเกิดความวิตกกังวลและซึมเศร้าตามมา ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่และผู้ที่มีบทบาทในสังคมต้องกระตุ้นเตือนเด็กวัยรุ่นถึงพฤติกรรมการสักว่ามีผลเสียระยะยาวอย่างไรบ้าง เพราะการสักเป็นการกระทำให้เกิดความเจ็บปวดต่อร่างกาย และจิตใจหยาบกร้านมากขึ้น ถ้าหากเด็กหันไปสักกันมากขึ้น สังคมประเทศจะเป็นอย่างไร”

 

          อย่างไรก็ตามการสักลายนั้นก็มีข้อควรระวังก็คือการนำเอาสิ่งแปลกปลอมคือผงหมึกเข้าไปในร่างกายอาจจะทำให้เกิดภาวะภูมิแพ้ได้ซึ่งหากใครที่แพ้ผงหมึกก็ควรจะมีความระมัดระวังให้มาก นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อโรคติดต่อเพราะการสักนั้นจะใช้เข็มทิ่มเข้าไปในร่างกายทำให้มีเลือดออกซึ่งหากไม่ระมัดระวังก็อาจจะกลายเป็นพาหะนำโรคร้ายได้ เช่น ไวรัสตับอักเสบ เอชไอวีหรือเอดส์ ตลอดจนเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา เป็นต้น บางคนอาจจะแพ้สีที่ใช้สัก ทำให้เกิดปฏิกิริยาผิวหนังปูดนูนและอักเสบได้

 

          อย่างไรก็ตาม ก่อนสักควรจะตัดสินใจให้ละเอียดรอบคอบ เพราะการลบรอยสักไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะทำให้เจ็บปวดแล้วยังใช้เวลานานเป็นปี กว่ารอยสักจะหมดไป และยังจะส่งผลกระทบต่อการสมัครงานด้วย

 

          การสักลายต้องทำให้เฉพาะผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้นเพราะคนกลุ่มนี้สามารถคิดได้อย่างรอบด้านแต่ไม่ควรทำกับเด็กเพราะเด็กนั้นผิวหนังยังอ่อนและยังคิดไม่รอบคอบหากสักไปแล้วในอนาคตอยากจะลบออกก็ต้องเสียเงินเสียทองไม่ใช่น้อยๆและการที่ผิวหนังที่ถูกสักลายแล้วไปลบก็ไม่มีโอกาสที่จะกลับมาเหมือนเดิมได้ 100%” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวในที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

 

 

update 05-02-52

Shares:
QR Code :
QR Code