เตือนวัยรุ่นใช้ยาผิด เสี่ยงเป็นสารเสพติด
แพทย์ห่วงวัยรุ่นในยาในทางที่ผิดเพิ่มขึ้น เกิดลมชักหามส่ง รพ.ปีละครึ่งร้อย หวั่นเป็นแหล่งตั้งต้นสู่การใช้สารเสพติดรุนแรงในอนาคต ชี้ร้านขายยาตัวการ จัดยาให้เป็นชุด
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นพ.วินัย วรานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวถึงกรณีวัยรุ่น ฯ ใช้ยาโปรโคดิล (procodyl) และยาทรามาดอล (tramadol) ในทางที่ผิด ว่า ยาทรามาดอลเป็นสารอนุพันธุ์ของมอร์ฟีน ที่ใช้เพื่อระงับอาการปวดทางการแพทย์ ถ้าใช้เกินปริมาณมากจะทำให้มีอาการซึม กดการหายใจ หมดสติ และเสียชีวิตได้ ส่วนโปรโคดิลมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับยารักษาโรคทางจิตเวช ทำให้ง่วง ซึม ถ้าใช้ไปในทางที่ผิดจะทำให้เกิดภาพหลอน หัวใจเต้นเร็ว หน้าแดง ปัสสาวะออกยาก ทั้งนี้เมื่อนำมาผสมกันจะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเภสัช มีอาการกระสับกระส่าย วุ่นวาย ไข้สูง หัวใจและชีพจรเต้นเร็ว เป็นต้น ปัจจุบันพบกรณีอย่างนี้เพิ่มขึ้น และอายุน้อยลงเรื่อยๆ เช่นที่ รพ.วชิระ มีผู้ป่วยวัยรุ่นชักเข้าโรงพยาบาลปีละประมาณ 50 ราย ทั้งนี้แม้ว่าการใช้ยาเหล่านี้จะไม่ใช่สารเสพติดโดยตรง แต่ก็เป็นแหล่งตั้งต้นที่นำไปสู่การใช้สารเสพติดที่ร้ายแรงกว่า เช่น ยาบ้า เฮโรอีน จึงอยากให้พ่อแม่จับตาดู โดยเฉพาะแฟชั่นผสมแล้วใส่กระติกน้ำใบเล็กๆ หรือขันใบใหญ่ๆ
ด้าน พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้รับผู้ป่วยเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ต้องเข้าห้องฉุกเฉิน เนื่องมาจากภาวะช็อกหมดสติ จากการใช้กลุ่มยากลุ่มนี้ผสมกับน้ำอัดลม 4 ราย และที่ผ่านมาจะพบผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเดียวกันถึงปีละประมาณ 10 ราย ทั้งนี้ปกติคนเราจะรับประทานยาเหล่านี้ในปริมาณเพียงวันละ 4 เม็ด แต่ตอนนี้พบว่าเด็กนำไปใช้ในทางที่ผิด บางคนกินมาก วันละ 10-100 กว่าเม็ดขึ้นไป ที่น่าสนใจคือจากการสอบประวัติพบว่าเด็ก ๆ หาซื้อยาเหล่านี้ได้โดยง่ายที่ร้านขายยาทั่วไป แม้สวมชุดนักเรียนไปซื้อจำนวนมากๆ แต่ทางร้านก็ยังขายให้ ไม่มีการซักถามแต่อย่างใด
“สมองของวัยรุ่นยังพัฒนาไม่เต็มที่ ถ้าเกิดการเสพติดขึ้นมาจะเลิกได้ยากกว่า ที่สำคัญคือหากเกิดการชักแล้วย่อมมีผลต่อสมองแน่นอน ทำให้สมองพัฒนาการไม่เต็มที่ การทำงานของสมองช้าลง มีผลต่อเรื่องสมาธิ การคิดวิเคราะห์ อย่างกรณีน้องที่เข้ารับการรักษาเพราะชักเองก็บอกว่าตัวน้องเองจำอะไรไม่ค่อยได้ แม้จะยังไม่มั่นใจว่าเป็นเพราะการชักจากการใช้ยาเหล่านี้หรือไม่ แต่ต้องติดตามการทำงานของสมองต่อไป” พญ.จิราภรณ์ กล่าว
ด้าน นพ.ศักดา อาจองค์ หน่วยระบาดวิทยา และทีมงานศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก กล่าวว่า ความชุกของการใช้ยาผิดประเภทพบมากในกลุ่มวัยรุ่นในโรงเรียนใน กทม. เพราะเป็นพื้นที่รองรับเด็กในชุมชนแออัดหลายแห่ง และส่วนมากพบว่าเด็กรู้วิธีการใช้ยามาจากอินเตอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย สอนวิธีการใช้ การผสมยาด้วย
ด้าน นาย เอ (นามสมมติ) วัยรุ่นที่เคยใช้ยาสูตรผสมดังกล่าว กล่าวว่า ทดลองใช้ยาตามเพื่อน และรุ่นพี่ โดยหาซื้อยาได้จากร้านขายยาโดยง่าย จนมีร้านประจำ ซึ่งพอไปถึงไม่ต้องบอกอะไรมากก็จัดยามาให้เป็นชุดเลย
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต