เตือนภัย 6 โรคหน้าร้อน โดยเฉพาะโรคที่มากับน้ำ

 

กระทรวงสาธารณสุข ออกเตือนประชาชน ให้ระวังโรคที่มากับหน้าร้อน 6 โรค ส่วนใหญ่เป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เป็นโรคที่พบบ่อยรองจากไข้หวัด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อชนิดนี้ฟักตัวได้ดีในสภาพอากาศร้อน

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เป็นระยะเวลาที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจะเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่องการป้องกันโรคที่พบบ่อยในฤดูร้อนจำนวน 6 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ บิด โรคอหิวาตกโรค ไทฟอยด์ และโรคตับอักเสบจากไวรัสทางเดินอาหารชนิดเอ ซึ่งปีนี้จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นจากภัยแล้ง เพราะน้ำสะอาดอาจหาได้ยากขึ้น เบื้องต้นมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดูแลเรื่องคุณภาพน้ำและแหล่งน้ำ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยจากโรคดังกล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ สสจ.ทั่วประเทศดำเนินการ 4 เรื่อง คือ 1.เฝ้าระวังโรคในพื้นที่ หากพบมีผู้ป่วยเกิดขึ้น ให้รีบดำเนินการควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาด 2.ให้ดูแลควบคุมมาตรฐานน้ำประปา โรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด โรงงานผลิตน้ำแข็ง ซึ่งในฤดูร้อนยอดการบริโภคน้ำแข็ง น้ำดื่ม จะสูงขึ้นกว่าฤดูกาลอื่นๆ 3.ดูแลกวดขันความสะอาดโรงอาหารโรงเรียน ร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหารและตลาดสด ขอความร่วมมือผู้ประกอบการดูแลความสะอาดส้วมสาธารณะ เช่น ปั๊มน้ำมัน และ 4.ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนให้รู้จักอาการของโรค การปฏิบัติตัวไม่ให้ป่วย และขอความร่วมมือให้การดูแลความสะอาดห้องส้วม ห้องครัว

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า โรคติดต่อทางอาหารและน้ำเป็นโรคที่พบบ่อยรองจากไข้หวัด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อชนิดนี้ฟักตัวได้ดีในสภาพอากาศร้อน เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ในช่วงเกือบ 2 เดือนแรกของปี 2556 นี้ มีรายงานผู้ป่วยทั้ง 6 โรค รวม 146,452 ราย ไม่มีเสียชีวิต โรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 128,855 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 28 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ โรคอาหารเป็นพิษ 15,965 ราย โรคบิด 1,197 ราย และโรคตับอักเสบจากไวรัสทางเดินอาหารชนิดเอ จำนวน 43 ราย ส่วนโรคอหิวาตกโรค ไม่มีรายงานผู้ป่วย

“ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ประสานงานกับเทศบาล/องค์การบริหารส่วนตำบล ดูแลเรื่องคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านให้มีปริมาณสารคลอรีนตกค้างตามเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ขอให้ประชาชนดูแลความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม ภาชนะใส่อาหาร ใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ กำจัดขยะมูลฝอย และให้ยึดหลักปฏิบัติคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” นพ.ณรงค์ กล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ