เตือนภัยเด็ก จากอุบัติเหตุรถยนต์
ผลสำรวจเผยเด็กไทยเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุรถยนต์พุ่งสูง แนะออกกฎหมาย – ติดที่นั่งนิรภัยเด็ก
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ช่วง 14 ปีหลังนี้ เด็กไทยอายุน้อยกว่า 15 ปี ตายจากอุบัติเหตุทางจราจร 14,669 คน เฉลี่ยปีละ 104 คน เป็นเด็กกลุ่มอายุ 10-14 ปี 554 คน และเป็นเด็กปฐมวัย 242 คน และวัย 5-9 ปี 246 คน ซึ่งหากพูดถึงรถยนต์ แม้ผู้ขับขี่และถนนจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการเกิดอุบัติเหตุ แต่จากการศึกษาพบว่าทุกรายที่เสียชีวิต ไม่ได้อยู่ในระบบยึดเหนี่ยว ตั้งแต่การไม่ใช้เข็มขัดนิรภัย และที่นั่งนิรภัย ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้โดยสารและสิ่งของในรถจะพุ่งกระเด็นไปข้างหน้าตามแรงเหวี่ยง เป็นเหตุให้พบการเสียชีวิตนอกรถหลายราย ขณะที่เด็กซึ่งมีศีรษะหนัก ลำตัวเล็ก มีกระดูกต้นคอ กระดูกทรวงอกที่อ่อน มีอวัยวะภายในช่องท้อง เช่น ตับ ม้าม ค่อนข้างใหญ่ เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ จึงมีลักษณะการเคลื่อนตัวคล้ายลูกแบดมินตันคือ "พุ่งแรง" และสามารถทะลุออกนอกรถได้ง่าย เป็นเหตุให้สมอง ก้านคอ และม้ามแตกได้ง่าย เป็นเหตุว่า ทำไมเด็กจึงเสียชีวิตในอัตรามากกว่าผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่เป็นผู้โดยสารน้อยกว่า
"ระบบยึดเหนี่ยวตัวเด็กไว้กับรถยนต์ที่มีโครงสร้างแข็งแรง และออกแบบมาเพื่อปกป้องผู้โดยสารจึงเป็นระบบการป้องกันที่สำคัญ เราทราบกันดีว่าการใช้ที่นั่งนิรภัยสามารถลดการตายของเด็กทารกได้กว่า 75% ในเด็กปฐมวัย และ 40% ในเด็กวัยเรียน แต่กฎหมายไทยมี พ.ร.บ.จราจร ที่ยังบังคับเฉพาะคนขับและผู้นั่งข้างคนขับให้ใช้เข็มขัดนิรภัย ซึ่งในเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ปี ไม่สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้ เวลาคาดไม่อยู่ที่ตาก็อยู่ที่คอ ซึ่งจะไปทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น กฎหมายจะต้องกำหนดเรื่องที่นั่งนิรภัย ซึ่งในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ประเทศทางยุโรปจะมีกฎหมายกำหนดในเรื่องนี้ชัดเจน"
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอที่อยากให้มีการผลักดันทางด้านกฎหมาย คือ 1.ผู้บริโภค ต้องมีหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ผู้ปกครองเรื่องความสำคัญของที่นั่งนิรภัย ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานทางการศึกษา โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2.ผู้ผลิต ต้องลงทุนจัดรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน และผู้ที่จะซื้อรถเรื่องความปลอดภัยของเด็กในรถยนต์ และต้องมีอุปกรณ์สำหรับความปลอดภัยอย่างครบถ้วน ไม่ตัดออกเพื่อประหยัดต้นทุนและเพื่อเพิ่มกำไร ซึ่งขณะนี้ทาง ASEAN-NCAP มีการทดสอบรถยนต์ในข้อกำหนดความปลอดภัยของเด็ก (COP) ทำให้รู้ว่า รุ่นไหน ยี่ห้อไหน มีคะแนนความปลอดภัยในเด็กเท่าไหร่ ให้ผู้ซื้อรับทราบ 3.ภาครัฐ ต้องมีการแก้ไขกฎหมายจราจร รวมถึงลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถยนต์ เพราะปัจจุบันยังอยู่ที่ 25-30% ทำให้ราคาสูงมาก ประชาชนเข้าไม่ถึง นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมความตระหนักให้กับประชาชนเพื่อให้เห็นความสำคัญของการใช้อุปกรณ์ด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง