เตือนผู้ป่วยจิตเวชอย่าขาดยาแม้อาการดีขึ้น
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
กรมสุขภาพจิต ย้ำเตือนผู้ป่วยจิตเวช "อย่าขาดยาเด็ดขาด" แม้อาการดีขึ้น ยังไม่ได้แปลว่าหายขาด ต้องกินต่อเนื่อง
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญและเน้นหนักการป้องกันปัญหาการก่อเหตุของผู้ป่วยจิตเวชทั้งมีและไม่มีคดี โดยเพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาทางยามากที่สุดและฟื้นฟูสมรรถภาพด้านกาย จิตสังคมเพื่อคืนความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ป่วย ผู้ป่วยจิตเวชประมาณร้อยละ 98 สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การดูแลของญาติหรือบุคคลใกล้ชิดที่บ้านและชุมชน โดยใช้ยาควบคุมระบบการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองเป็นไปอย่างสมดุล ผู้ป่วยจะมีอาการที่เป็นปกติ สามารถใช้ชีวิตและทำงานได้
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ตลอดในปี 2560 มีผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงบริการรักษาแล้ว 2 ล้าน 6 แสนกว่าคน หัวใจสำคัญที่สุดที่จะไม่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชอาการกำเริบ คือ 1.ต้องกินยาต่อเนื่อง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว ความผิดปกติที่เคยมีเช่น หูแว่ว ประสาทหลอนจะไม่มีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ได้แปลว่าหายขาด 2. ไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด เช่นเหล้า บุหรี่ และ3. ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง หากปฏิบัติตามที่กล่าวมา จะไม่มีปัญหาอาการกำเริบและมีโอกาสหายสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยครั้งแรก แต่หากปล่อยให้อาการกำเริบซ้ำแล้วซ้ำอีก จะมีโอกาสป่วยเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด ต้องพึ่งยาตลอดชีวิต เช่นเดียวกับผู้ที่มีเป็นโรคประจำตัวทั่วไป
ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเวชที่พบมากทึ่สุดคือโรคจิตเภท ตลอดอายุขัยของประชาชนทั่วไปในทุกๆ 100 คน จะพบเป็นโรคนี้ได้ 1 คน หรือร้อยละ 1 ของประชากร คาดว่ามีประมาณ 6 แสนคนทั่วประเทศ ผู้ป่วยจะมีอาการเด่นที่ไม่พบในคนปกติ คือ หลงผิด ประสาทหลอน พูดจาไม่รู้เรื่อง และพฤติกรรมท่าทางแปลกๆ แต่งกายไม่เหมาะสม ผู้ที่เป็นโรคนี้ไม่ใช่คนน่ากลัวอย่างที่บางคนเข้าใจ มีผลการการศึกษาพบว่าอัตราการก่อคดีอาชญากรรมของผู้ป่วยโรคจิตเภทไม่ได้มากไปกว่าคนทั่วไป ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ จะต้องให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และลดภาระดูแลของญาติด้วย
ปัญหาหลักที่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชอาการกำเริบ ป่วยซ้ำๆ บางรายมีอาการรุนแรงขึ้นกว่าเดิม อันดับ 1 คือการขาดยา จากสาเหตุ 4 ประการ คือ 1. ไม่ยอมกินยา เพราะคิดว่าไม่ได้ป่วย/ไม่ได้เป็นอะไร 2. กลัวเกิดผลข้างเคียงของยา บางคน กินแล้วมีผลข้างเคียง เช่น ตัวแข็งทื่อ น้ำลายไหล ง่วงมาก ซึ่งขณะนี้มียารักษาสมัยใหม่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าชนิดเดิม 3. กลัวจะติดยา จึงกินบ้างไม่กินบ้าง ซึ่งขอยืนยันว่าผู้ป่วยจิตเวชที่กินยารักษาอาการป่วยจะไม่มีโอกาสติดยาแน่นอนแม้ว่าแพทย์จะสั่งให้กินในขนาดสูงและยาวนานก็ตาม ก็ไม่ทำให้เกิดการติดยา มีเพียงยาจิตเวชบางชนิดเท่านั้นที่อาจเกิดอาการพึ่งพิงยาได้ แต่หากอยู่ในความดูแลของแพทย์ ก็ไม่ต้องกังวล และ 4. คิดว่าตัวเองหายแล้ว ซึ่งยาจิตเวชหลังจากกินแล้วจะค่อยๆออกฤทธิ์ประมาณ 15 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นเหมือนปกติ เนื่องจากยาจะควบคุมการทำงานของสมองให้เข้าที่ แต่ยังไม่ได้หายขาดจากโรค จะต้องกินยาให้ครบทุกตัวที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง หากหยุดยาเอง อาการก็จะกลับมากำเริบและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม แพทย์ผู้ให้การรักษาจึงต้องนัดผู้ป่วยเพื่อติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ
สำหรับญาติ ควรดูแลผู้ป่วยจิตเวช 5 ประการดังนี้ 1. ดูแลให้กินยาต่อเนื่อง 2.สังเกตอาการเตือนที่ต้องนำผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วคือ นอนไม่หลับ ไม่ยอมนอน ไม่รับประทานอาหาร อารมณ์หงุดหงิดหรือครื้นเครงกว่าปกติ พฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายตัวเอง หรือคนอื่น 3. พูดคุยกับผู้ป่วยด้วยความเป็นมิตร นุ่มนวล ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความรู่สึกมีคุณค่าและยังคงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว 4. กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมอื่นๆ พยายามให้ดำเนินชีวิตใกล้เคียงกับภาวะปกติมากที่สุด 5.ดูแลผู้ป่วยไม่ให้เกี่ยวข้องกับสารเสพติดทุกชนิดทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด หากมีปัญหาสามารถขอรับคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง