เตือนผู้บริโภค สารเร่งเนื้อแดงอันตราย
ปัจจุบันคนส่วนใหญ่นิยมบริโภคหมูเนื้อแดง ไม่มีมัน เนื่องจากกลัวโรคอ้วน หรือกลัวสารคลอเรสเตอรอลที่มีผลร้ายต่อสุขภาพ จึงทำให้ฟาร์มสุกรต้องผลิตเนื้อหมูที่มีลักษณะสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค คือ มีเนื้อแดงมาก และมีไขมันต่ำ
โดยปัจจุบันพบว่า มีการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดง หรือสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ ในหมู วัว และสัตว์ปีก ได้แก่ เคลนบิวรอล และซาลบิวทามอล ซึ่งมีผลข้างเคียง คือทำให้ชั้นไขมันลดลง และเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อ หรือเนื้อแดง เมื่อใช้สารในปริมาณมาก ผู้บริโภคซื้อเนื้อหมู หรือเนื้อโคที่มีสารเร่งนี้ จะทำให้มีการขยายตัวของหลอดลม หลอดเลือด มีผลทำให้กล้ามเนื้อสั่น กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนและปวดศีรษะ จึงต้องระมัดระวังการใช้สารนี้ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ, โรคลมชัก, โรคเบาหวาน และสตรีมีครรภ์
จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า อันตรายจากสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ (beta agonists) โดยสารเบต้าอะโกนิสท์นั้นเป็นสารต้องห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาหารสัตว์ ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดและต้องโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท เนื่องจากเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้หัวใจทำงานหนัก เต้นผิดปกติ อันตรายสูงกับคนที่เป็นโรคหัวใจ ความดัน และเบาหวาน
อีกทั้งยังทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก มือสั่น ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ กระวนกระวายและคลื่นไส้ อาเจียนได้ ตลอดจนมีผลกับหญิงมีครรภ์ เพราะจะกระตุ้นให้เกิดเนื้องอกในระบบอวัยวะสืบพันธ์สตรีอีกด้วย โดยในประเทศฝรั่งเศส มีคนตายจากการบริโภคตับโคที่ปนเปื้อนสารเบต้าอะโกนิสท์ ชนิดบิวเทอรอล 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีการรายงานว่าสารในกลุ่มนี้ บางชนิดเป็นสารก่อให้เกิดเนื้องอกและมะเร็งด้วย
ในปัจจุบันยังมีการลักลอบใช้สารนี้ในอาหารหรือน้ำให้สุกรและโคเนื้อ เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อแดงและลดชั้นไขมันให้บางลง จึงเป็นที่สนใจของผู้บริโภคที่ไม่ทราบถึงอันตรายจากสารที่ตกค้างอยู่ในเนื้อที่ซื้อไปบริโภค เพราะถึงแม้จะทำให้สุกแล้วก็ไม่สามารถกำจัดสารให้หมดไปได้
นอกจากนี้ สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ ยังเป็นสารต้องห้ามของประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทย คือ ประเทศสหภาพยุโรป (อียู) และประเทศอื่นๆ หากพบในผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกจะถูกระงับการนำเข้า สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและเสียชื่อเสียงของประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากฟาร์ม ผู้จำหน่ายสารดังกล่าว ตลอดจนผู้บริโภค ช่วยหาทางหยุดยั้งการจำหน่ายหรือใช้สารดังกล่าวในการเลี้ยงสัตว์และหน่วยงานของภาครัฐจะต้องดำเนินการในทุกด้านอย่างจริงจัง เข้มงวด และต่อเนื่อง เพื่อหยุดยั้งการใช้สารนี้ให้ผู้บริโภคปลอดภัยต่อไป
“สารกลุ่มนี้มีทั้งหมดไม่น้อยกว่า 20 ชนิด แต่ที่มีข้อมูลพบว่าใช้กันในไทยแน่นอนแล้ว 4 ชนิด คือ เคลนบูเทอรอล (clenbuterol), ซัลบูทามอล (salbutamol), แรคโตปามิน (ractopamine) และซิลพาเทอรอล (zilpaterl) และที่นิยมใช้มากที่สุดคือ salbutamol และ ractopamine
โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดหลัง มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้กันมากขึ้น ลักษณะการนิยมใช้ผสมในอาหารสุกร ประมาณ 3-8 กรัมต่อกิโลกรัมอาหาร ส่วนในโคจะมีการใช้ในระดับปริมาณที่สูงถึง 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่ามีการผสมในน้ำให้สัตว์กินอีกด้วย และจากการที่ตรวจตัวอย่างอาหารสัตว์และน้ำที่ให้สัตว์กิน พบว่าการใช้ในสุกรได้ลดลงมาก ส่วนในโคยังคงมีการใช้สารเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 50%”
การดำเนินการที่ผ่านมานั้น มีปัญหาและอุปสรรคมากมาย เนื่องจากมีการใช้สารกันมานานมาก ผู้จำหน่ายสารเข้าใจวิธีการหลบหลีกทีหนีทีไล่เป็นอย่างดี และเป็นเครือข่ายกับฟาร์ม อีกทั้งเคยชินกับการดำเนินการของรัฐ ทำให้มีผู้ฝ่าฝืนอยู่กลุ่มหนึ่ง จึงลำบากต่อการดำเนินการของรัฐยากยิ่งขึ้น เนื่องจากคนในพื้นที่รู้จักมักคุ้น เกรงใจ บางฟาร์มยังมีอิทธิพล และยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ การจัดซื้อยาชุดทดสอบสารที่ล่าช้าไม่สอดคล้องกับแผนงาน, ห้องแล็บตรวจสารยังคงมีผลวิเคราะห์ที่ยังขาดการยอมรับจากฟาร์ม
ฉะนั้น ควรเพิ่มมาตรการแก้ปัญหาในเรื่องความร่วมมือบูรณการจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายปกครองในพื้นที่ที่ควรเกี่ยวข้องรับรู้ร่วมมือแก้ปัญหาด้วย และให้กลุ่มสมาคมต่างๆ ตลาด ผู้บริโภค เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ห้องแล็บส่วนภูมิภาคต้องก้าวหน้า มีเครื่องมือที่พร้อม ทันสมัยกว่าปัจจุบัน มีมาตรฐานใกล้เคียงกับ สตส. หรือหน่วยงานส่วนภูมิภาคของกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
จากความเข้มงวดในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ทำให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงของผู้เลี้ยงสุกรลดลง อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดง จะต้องอาศัยความร่วมมือของเกษตรกรที่ต้องมีจิตสำนึกที่ดีต่อผู้บริโภค ไม่ใช้ยา หรือสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและผู้บริโภค
ต้องรู้จักเลือกซื้อเนื้อสุกรที่สะอาดปลอดภัย โดยให้เลือกซื้อเนื้อสุกรที่มีมันหนาบริเวณสันหลัง เมื่ออยู่ในลักษณะตัดขวาง จะมีมันแทรกระหว่างกล้ามเนื้อเห็นได้ชัดเจน เนื้อสุกรปกติเมื่อหั่นทิ้งไว้จะพบน้ำซึมออกมาบริเวณผิว แต่เนื้อที่มีสารเร่งเนื้อแดงจะมีลักษณะค่อนข้างแห้ง ส่วนของ 3 ชั้น ปกติจะมีเนื้อแดง 2 ส่วน ต่อมัน 1 ส่วน (33%) แต่เนื้อสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจะมีปริมาณเนื้อแดงสูงถึง 3 ส่วน ต่อมัน 1 ส่วน (25%) และเนื้อจะมีสีแดงคล้ำกว่าปกติ
ควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่มีแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ หรือมีป้ายรับรองจากหน่วยราชการ เช่น ป้ายทองอาหารปลอดภัย หรือตรารับรองของกรมปศุสัตว์ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ได้เนื้อหมู หรือเนื้อสัตว์ต่างๆ มาบริโภคได้อย่างปลอดภัย
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง