เตือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรักษาโรคเอดส์
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
จากกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคเอดส์หยุดกินยาต้านไวรัส เนื่องจากหลงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งสามารถรักษาโรคเอดส์ได้ อย. เตือนอย่าหลงเชื่อนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารักษาโรค เพราะทำให้สูญเสียโอกาสในการรักษา และหากผลิตภัณฑ์นั้นมีการปลอมปนยาแผนปัจจุบัน อาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซ้ำร้ายอาจถึงแก่ชีวิตได้ ที่ผ่านมา อย.มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายแล้วมากกว่า1,400 ราย
นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อ สื่อมวลชนว่า ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคเอดส์หยุดกินยาต้านไวรัส เนื่องจากหลงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งสามารถรักษาโรคเอดส์ได้นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า อย. ไม่เคยอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคเอดส์ได้ขอประชาชนอย่าได้หลงเชื่อและผู้ป่วยโรคเอดส์ไม่ควรหยุดใช้ยาเอง ควรรับประทานยาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ในส่วนของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคเอดส์หรือรักษาโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดัน มะเร็ง ไต ตา สะเก็ดเงิน เป็นต้น ที่ผ่านมา อย. ได้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด (ผู้จำหน่าย ผู้ผลิต พิธีกร และ ผู้ดำเนินรายการ) ตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 1,400 ราย แต่ก็ยังพบการโฆษณาอยู่ ซึ่ง อย. ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องดังกล่าว ได้มีการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวัง โดยเฉพาะทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้ขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานให้บริการอินเทอร์เน็ต (Google , Line, Facebook ) ที่เกี่ยวข้องเพื่อประสานความร่วมมือในการระงับการโฆษณา รวมทั้งแจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อตรวจสอบการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติขายตรงและการตลาดแบบตรง สำหรับตัวผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณารักษาโรคเอดส์ อย. ได้ดำเนินการแจ้งระงับการโฆษณาดังกล่าว และยังได้รับข้อมูลเบื้องต้นจากผู้เชี่ยวชาญว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถรักษาโรคเอดส์ได้
ทั้งนี้ อย.จะเร่งดำเนินการตามกฎหมาย หากเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อ โดยไม่สมควรจะมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับรองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังอย่าหลงเชื่อนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารักษาโรค เพราะทำให้สูญเสียโอกาสในการรักษา และหากผลิตภัณฑ์นั้นมีการปลอมปนยาแผนปัจจุบัน อาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซ้ำร้ายอาจถึงแก่ชีวิตได้
ทั้งนี้ อย. ขอความร่วมมือ หากพบเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่าย ผลิตภัณฑ์สุขภาพในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่ อย. โดยตรงทางสายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือ สายด่วน บก.ปคบ. 1135 เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด