เตือนปชช. เมื่อถูกหมา-แมวกัดข่วน ให้รับการรักษา

ที่มา : กรมควบคุมโรค


กรมควบคุมโรคเตือน เมื่อถูกสุนัข-แมวกัด ข่วน ให้เข้ารับการรักษา  thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนอย่าชะล่าใจ เมื่อถูกสุนัข แมวกัด ข่วน แม้มีแผลเพียงเล็กน้อย หรือโดนกัด ข่วนนานแล้วก็ตาม ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ารายที่ 12 ของปีนี้ แนะประชาชนยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ช่วยลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า


นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 นี้มีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกรมควบคุมโรคได้รับรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มอีก 1 ราย  จากรายงานการสอบสวนโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร พบว่าผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นชาย อายุ 26 ปี ในจังหวัดมุกดาหาร โดยก่อนเข้าโรงพยาบาลมีประวัติถูกสุนัขกัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2560 เป็นลูกสุนัขไม่มีเจ้าของอายุ 2-3 เดือน กัดบริเวณหลังมือซ้ายมีเลือดออก ไม่ได้ล้างแผลและไม่ได้ไปหาหมอเพื่อฉีดวัคซีน ครั้งที่สองเมื่อเดือนมกราคม 2561 ถูกสุนัขในหมู่บ้านกัดที่น่องซ้ายมีเลือดออก ไม่ได้ไปหาหมอและไม่ได้ฉีดวัคซีนเช่นกัน  ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในปีนี้รวมเป็นจำนวน 12 ราย (จากสุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร ระยอง กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร)


จากข้อมูลในปี 2561 พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกลูกสุนัขกัดหรือข่วน แล้วไม่ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเกิดจากความชะล่าใจในการป้องกันหลังสัมผัสสัตว์ที่เสี่ยงมีเชื้อเพราะคิดว่าเป็นลูกสัตว์ที่นำมาเลี้ยงจึงน่าจะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า และขาดความตระหนักเพราะเห็นว่าเป็นรอยแผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  กรมควบคุมโรค  จึงขอแนะนำประชาชนว่าหากท่านเคยถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วนนานแล้ว แม้ว่ารอยแผลจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม แล้วไม่ได้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ขอให้ไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เนื่องจากระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนมีอาการป่วยอาจสั้นมากตั้งแต่ 1 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 1 ปีได้


นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคพิษสุนัขบ้า สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ซึ่งสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประเทศไทยจะพบมากในสุนัข แมว และโค สัตว์ที่มีเชื้อมักแสดงอาการทั้งแบบดุร้าย และแบบซึม เช่น นิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม ก้าวร้าวดุร้าย กัดไม่เลือก บางตัวอาจซึม อ้าปากค้างเพราะกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต และมีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก เดินโซเซ เห่าหอนผิดปกติหรือไม่มีสาเหตุ โดยสุนัขที่แสดงอาการมักจะตายภายใน 10 วัน


กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่าหากถูกสุนัขและแมว กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีนหลังล้างแผล เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรไปตามนัดทุกครั้ง  และขอให้ประชาชนยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ได้แก่ 1.อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ 2.อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน 3.อย่าแหย่ สัตว์เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ 4.อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน 5.อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

Shares:
QR Code :
QR Code