เตือนน้ำมันทอดซ้ำตัวการก่อโรคมะเร็ง
เผย! ลูกชิ้นทอดเสี่ยงอันตรายสูงสุด
คนไทยบริโภคน้ำมันพืชปีละ 8 แสนตัน ขณะที่การใช้น้ำมันทอดซ้ำก็ยังสูง ย้ำเตือนก่อนมะเร็ง โรคหัวใจ สำรวจอาหารใน กทม.ลูกชิ้นทอดเสี่ยงอันตรายสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ๋ง สร้างชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำแค่ชุดละ 20 บาท ขณะที่ต่างประเทศสูงหลักหมื่น
“หยุดมหันตภัยน้ำมันทอดซ้ำถวายแม่ของแผ่นดิน” คือคือหัวข้อแถลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดย รศ.ดร.แก้ว กังสดารอำไพ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คนไทยนิยมอาหารทอด ปัจจุบันมีการใช้น้ำมันพืชกว่า 8 แสนตันต่อปี ในจำนวนนี้ยังมีการใช้น้ำมันทอดซ้ำจำนวนมาก ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะน้ำมันทอดซ้ำมีสารกลุ่มโพลาร์ ที่เป็นสารก่อโรคความดันโลหิตสูง หลอดเลือด หัวใจ มะเร็ง อีกทั้งไอระเหยจากน้ำมันทอดซ้ำ หากสูดดมเป็นเวลานาน พบมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งที่ปอด และเนื้องอกในตับและปอด เพราะมีสารกลุ่มไพลีไซคลิกอโรเมติกไฮโดรคาร์บอน ทั้งยังพบว่าก่อมเร็งเม็ดเลือดขาวในหนูทดลองอีกด้วย
“การหันมาสนใจเรื่องพลังงานทางเลือกส่งผลดีต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำมันทอดซ้ำเป็นเวลานานได้ เพราะพ่อค้าแม่ค้า หรืออุตสาหกรรมอาหาร สามารถขายน้ำมันทอดซ้ำนำไปผลิตไบโอดีเซลได้ คาดว่ามีน้ำมันทอดซ้ำที่จะผลิตเป็นไบโอดีเซลได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านลิตรต่อปี” รศ.ดร.แก้วกล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า อาหารในกลุ่มโปรตีนจะเปลี่ยนแปลงโมเลกุลได้มากกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้นเมื่อนำไปทอด น้ำมันจะเกิดสารโพลาร์ได้ง่ายกว่า ซึ่งอาหารอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดสารโพลาร์ได้ง่ายหากใช้น้ำมันที่ทอดติดต่อักนนานเกินควร ได้แก่ ไก่ทอด หมูทอด ปลาทอด กล้วยแขก ปาท่องโก๋ การกินอาหารทอดมากๆ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ มะเร็ง แม้ไม่เกิดเฉียบพลัน แต่หากร่างกายได้รับติดต่อกันนานๆ จะสะสมทำให้เกิดโรคในที่สุด เทียบเท่าความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้า
รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผจก.แผนงานคุ้มครองบริโภคด้านสุขภาพ กล่าวว่า การเก็บตัวอย่างสารโพลาร์ในน้ำมันทอดอาหารในเขตกทม.จำนวน 315 รายการ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เดือนตุลาคม 2550-พฤษภาคม 2551 พบอาหารตกมาตรฐาน 47 รายการ หรือ 14.92% กลุ่มอาหารที่มีสารโพลาร์ในน้ำมันตกมาตรฐาน 5 อันดับแรกคือ 1.ลูกชิ้น 26.66% 2.ไก่ทอด 18.60% 3.ปลาทอด 17.54% 4.นักเก็ต 12.5% 5.หมูทอด 6.67%
“น้ำมันทอดซ้ำที่เสื่อมคุณภาพ จะมีลักษณะหนืดข้นผิดปกติ มีสีดำ เกิดฟองมาก มีกลิ่นเหม็นไหม้ เกิดควันมากขณะทอด” รศ.ดร.วิทยาระบุ
ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี กล่าวว่า โรคมะเร็งทางเดินอาหาร มีอัตราการเกิดมากขึ้นเป็นอันดับ 3 ทั้งในชายและหญิง ซึ่งสารโพลาร์คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็ง กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดให้น้ำมันทอดซ้ำต้องมีค่าสารโพลาร์ ไม่เกิน 25% ผู้ประกอบการอาหารที่ฝ่าฝืน จะมีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ในต่างประเทศ ชุดทดสอบหาค่ามาตรฐานสารโพลาร์ มีราคาแพงหลักหมื่นบาทแต่ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาชุดทดสอบน้ำมันทอดซ็อย่างง่าย ต้นทุนเพียง 20 บาท สามารถตรวจสอบได้ว่าน้ำมันทอดอาหารเสื่อมคุณภาพ ไม่เหมาะนำมาประกอบอาหาร มีความแม่นยำ 99.2% ใช้งานง่าย
ภก.วรวิทย์กล่าวว่า เนื่องในวันแม่แห่งชาติเพื่อนำความห่วงใยของแม่แห่งแผ่นดินที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย ให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น อย. สสส.และองค์กรภาคีสุขภาพ ผู้ประกอบการอาหาร จัด “โครงการรณรงค์ลดความเสี่ยงและอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้น้ำมันทอดซ้ำ ถวายแม่ของแผ่นดิน” หรือ “โครงการทำเพื่อแม่ 12 สิงหา” ถวายเป็นพระราชกุศลโดยเตรียมชุดทดสอบอย่างง่าย 5 แสนชิ้น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,853 แห่งแจกแก่ผู้ประกอบการนำไปใช้ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับป้าย “ทำดี เพื่อแม่” ติดที่หน้าร้านด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update: 22-07-51