เตือนนักท่องเที่ยว ระวังพิษแมงกะพรุน
ทส.เตือนชายฝั่งทะเลตะวันออก โดน 'แมงกะพรุนกล่อง' ถึงตาย
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม บริเวณท่าเรืออุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ต.เพ อ.เมืองระยอง มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาชมความงามแมงกะพรุนสี ตั้งแต่ช่วงเช้ามืด นายสุเมธ สายทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด กล่าวว่า นักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1,000 คน เดินทางมากันตั้งแต่เวลา 04.00 น. ทำให้การจราจรติดขัดยาวนับ 10 กิโลเมตร เพื่อรีบไปชมแมงกะพรุนสี เนื่องจากช่วงเช้าจะมองเห็นแมงกะพรุนสีลอยเหนือน้ำทะเลจำนวนมาก
"สาเหตุที่แมงกะพรุนสีมาขึ้นที่บริเวณสะพานท่าเรือแห่งนี้ เนื่องจากทะเลบริเวณนี้เป็นแหล่งน้ำนิ่ง มีสันเขื่อน ไม่ค่อยมีคลื่นลมแรงประกอบกับมีเขาบัง เป็นสถานที่ห้ามตกปลา ทำให้น้ำทะเลบริเวณนี้มีแพลงตอนเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ" นายสุเมธ กล่าว
นายบำรุงศักดิ์ ฉัตรอนันเวท ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์พิเศษ เป็นเรื่องของปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยให้เกิดเหตุเช่นนี้ เป็นปกติของทุกปีช่วงเวลาเดียวกันนี้ ที่ทะเลบริเวณ จ.ระยอง จันทบุรี และตราด และ จ.ชุมพร พื้นที่ใกล้กับแม่น้ำหลายสาย จะมีธาตุอาหารจากแม่น้ำไหลลงมาสู่ทะเล แมงกะพรุนจะมากินอาหาร ได้แก่ แพลงตอน ไรน้ำ ตัวเคย ตามปกติแล้ว ต้นฤดูฝนในทะเลหลายแห่งก็มักจะเจอกับแมงกะพรุนอยู่แล้ว และปัจจุบันสัตว์ผู้ล่าในทะเลกินแมงกะพรุนเป็นอาหาร จำพวก เต่า หมึก หรือปลา ลดปริมาณลง ความสมดุลในทะเลลดลง ทำให้ปริมาณแมงกะพรุนเพิ่มขึ้น ขอเตือนนักท่องเที่ยวว่าหากเจอแมงกะพรุนไม่ว่าที่ไหนก็ตาม หลีกเลี่ยงได้ต้องหลีกเลี่ยง เพราะหลายคนจะไม่รู้ว่าแมงกะพรุนชนิดใดมีพิษบ้าง อาการแพ้ที่พบได้ทั่วไปคือ เป็นผื่นแดงคันแสบร้อน
"จากการสำรวจพบแมงกะพรุนมีพิษในบางพื้นที่แล้ว นั่นคือ แมงกะพรุนกล่อง (box jellyfish) พบใน 3 จังหวัด บริเวณอ่าวไทย คือ ระยอง จันทบุรี และ จ.ตราด และพบบางพื้นที่ฝั่งอันดามัน คือ จ.ภูเก็ต แมงกะพรุนกล่องมีพิษค่อนข้างร้ายแรง ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีผลต่อระบบประสาท ในต่างประเทศโดยเฉพาะออสเตรเลียมีแมงกะพรุนชนิดนี้ค่อนข้างชุกชุม เคยมีนักดำน้ำเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องมาแล้ว แต่ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานดังกล่าว แต่ก็เคยพบนักดำน้ำได้รับพิษจากแมงกะพรุนนี้มาแล้ว" นายบำรุงศักดิ์กล่าว และว่า
ทช.ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับชนิดของแมงกะพรุนพิษและที่สงสัยว่ามีพิษในน่านน้ำไทย รวมทั้งการพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสแมงกะพรุนพิษรวมทั้งท่อบรรจุน้ำส้มสายชู สำหรับล้างพิษเบื้องต้น ในพื้นที่ 6 จังหวัด ของชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และระนอง และอีก 3 จังหวัดทางฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราด
ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต