เตือนดมกลิ่นสีอาคารอันตราย เสี่ยงความจำเลอะเลือน-หน้ากากอนามัยป้องกันไม่ได้

แพทย์เตือนสูดดมกลิ่นสีทาอาคารอันตรายต่อระบบประสาท อาจเกิดอาการมึนงง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน แถมเสี่ยงความจำสับสบ เลอะเลือน แนะเลี่ยงออกจากพื้นที่ เพราะหน้ากากอนามัยป้องกันไม่ได้

เตือนดมกลิ่นสีอาคารอันตราย เสี่ยงความจำเลอะเลือน

นพ.พิบูล อิสระพันธ์ รองผู้อำนวยการโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า พนักงานออฟฟิศ ที่ต้องนั่งทำงานในพื้นที่ที่มีการตกแต่งอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีการทาสีอาคาร มีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากการสูดดมกลิ่นสี เนื่องจากสีที่ใช้ทาอาคารจะมีส่วนผสมของตัวทำละลายที่เป็นอันตราย เช่น โทลูอีน (toluene) เมื่อสูดดมเข้าไปจะส่งผลต่อระบบประสาท เกิดอาการมึนงง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปได้เองหลังออกจากพื้นที่ แต่พื้นที่ใดมีการตกแต่งใหม่อยู่เรื่อยๆ อาการที่เกิดขึ้นจะเรื้อรัง มีผลทำให้ความจำสับสน เลอะเลือน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานผู้ป่วยมีอาการแบบถาวร

“อาการเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากสูดดมเข้าไปราวครึ่งชั่วโมง เพราะสารชนิดนี้เมื่อหายใจเข้าไปจะผ่านปอด เข้าสู่กระแสเลือดและไปยังสมองได้ในเวลาไม่กี่วินาที แต่จะแสดงอาการในราวๆ ครึ่งชั่วโมงต่อมา ซึ่งอาการจะหายไปเองหลังออกจากพื้นที่ หรือกลับบ้าน แต่หากต้องสูดดมเป็นเวลานาน แม้กลับบ้านอาการก็ไม่ดีขึ้นหรือแม้แต่ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์อาการที่เป็นก็ไม่หาย” นพ.พิบูล กล่าว

นพ.พิบูล กล่าวอีกว่า สารโทลูอีนจะเป็นตัวทำละลายในสีทาอาคารประเภทสีน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้สีน้ำแทน ส่วนสีน้ำมันยังมีการใช้ทาอยู่ในบางส่วน เช่น ทาครึ่งล่างของฝาผนัง หรือออฟฟิศที่ต้องการความหรูหรา แต่ยังมีการใช้ตัวทำละลายชนิดนี้อยู่ในวัตถุเคลือบไม้แบบ ในกรณีที่จะเป็นสารพิษสะสมในร่างกาย เป็นสารก่อมะเร็ง จะเกิดจากผงสีที่ในอดีตมีส่วนผสมของโลหะหนักหรือสารประกอบอินนทรีย์ ขณะที่ปัจจุบันสียี่ห้อดังๆ ใช้เม็ดสีสังเคราะห์เกือบทั้งหมดแล้ว ทำให้ไม่อันตรายมาก

สำหรับการสูดหรือสัมผัสฝุ่นละอองในระหว่างการก่อสร้าง อาจจะทำให้เกิดภูมิแพ้ ผื่นคัน หอบ หืด เคืองตา แสบตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดัน หรือโรคปอด เนื่องจากผู้ป่วยมีสภาพปอดที่แย่อยู่แล้ว จะทำให้เกิดการอักเสบอ่อนๆ ของปอดขึ้นได้

นพ.พิบูล กล่าวด้วยว่า ในการป้องกันการสูดดมกลิ่นสีทาอาคาร สิ่งสำคัญที่สุด คือ จะต้องมีการถ่ายเทของอากาศที่ดี 12 ลูกบาศก์ฟุตต่อนาทีต่อคน ส่วนการใช้หัวหอม ใบเตย หรือแม้แต่เครื่องแต่งกรองอากาศจะไม่ได้ผล รวมถึงการใส่หน้ากากอนามัยด้วย เนื่องจากตัวทำละลายเป็นลักษณะของโมเลกุล หน้ากากอนามัยจะช่วยกรองหรือป้องกันเฉพาะฝุ่นหรือที่มีลักษณะเป็นเม็ดเท่านั้น และหากทนสูดดมไม่ได้จริงๆ หรือมีอาการค่อนข้างรุนแรงควรไปนั่งทำงานในพื้นที่อื่นชั่วคราว โดยเฉพาะหญิงกำลังตั้งครรภ์ แม้จะยังไม่มีหลักฐานว่าจะส่งผลเป็นอันตรายต่อเด็กในท้อง แต่ก็ไม่ควรเสี่ยง

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 

Shares:
QR Code :
QR Code