เตือนคนอยากผอม ระวังยาลดอ้วน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
แฟ้มภาพ
แม้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและยาลดความอ้วนจะได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสามารถลดน้ำหนักได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้ไม่ต้องออกกำลังกายหรือควบคุมอาหาร
แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำนักยาและวัตถุเสพติดได้ทำการตรวจวิเคราะห์ของกลาง จำนวน 70 ตัวอย่าง พบตัวอย่างที่มีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน เป็นยาอันตราย 43 ตัวอย่าง และยาควบคุมพิเศษ 8 ตัวอย่าง เช่น ยาในกลุ่มแอมเฟตามีน เช่น เฟนเทอร์มีน ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่ม ทำให้เกิดการเบื่ออาหาร และยารักษาโรคซึมเศร้าและอาการในกลุ่มโรควิตกกังวล ฟลูโอซีทีน ซึ่งมีผลข้างเคียงในการช่วยทำให้ไม่อยากอาหาร รวมทั้งยาระบาย บิสซาโคดิล ยาขับปัสสาวะ ฟูโรซีไมด์ ที่ส่งผลให้ผู้ใช้ยาดังกล่าวรู้สึกผอมลง เนื่องจากน้ำหนักลดหลังจากใช้ยา แต่ผลข้างเคียงคือร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ โดยล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่มีส่วนผสมของเมล็ดแมงลัก ที่กำลังเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคมออนไลน์ และเป็นข้อที่ถกเถียงกันอย่างมากว่า แท้จริงแล้วผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด
นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากกรณีที่ อย.ได้เข้าไปตรวจสอบผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักบางยี่ห้อที่ผลิตจากเม็ดแมงลัก ซึ่งหลังรับประทานแล้วมีอาการใจสั่น มือสั่น ปากแห้ง คอแห้งนั้น เมื่อมีการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบพบว่า ผลิตภัณ์ดังกล่าวไม่มีข้อมูลการจดทะเบียนของบริษัท มีการปลอมเลขสารบบอาหาร โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เมื่อตรวจสอบข้อมูลผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายตามที่ระบุบนฉลากจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรากฏว่าไม่พบข้อมูลการจดทะเบียนของบริษัทดังกล่าว
เมื่อตรวจสอบส่วนประกอบที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ พบว่า มีสารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน และเป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
นอกจากนี้ อย. ยังได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง โดยค้นหาทั้งชื่อภาษาไทยและอังกฤษ ซึ่งมีจำนวนผลิตภัณฑ์กว่า 6,000 รายการ พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น "ยับยั้งการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล ลดความอยากอาหาร DETOX ลำไส้ ไร้ผลข้างเคียง" "ช่วยเสริมระบบการย่อยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" เป็นต้น จึงอยากเตือนให้ผู้บริโภคใช้วิจารณญาณก่อนจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า หากผู้บริโภคต้องการลดน้ำหนักและปลอดภัยอย่างยั่งยืน ควรควบคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกาย รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยไม่กินอาหารพร่ำเพรื่อ ไม่กินจุบกินจิบ ควรกินอาหารที่หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม ครบ 5 หมู่ ลดการกินอาหาร หวาน มัน เค็ม รวมทั้งควร ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และขอให้ผู้บริโภคระลึกไว้เสมอว่าถึงแม้การใช้ยาลดความอ้วนจะเป็นวิธีเห็นผลเร็ว น้ำหนักลดลงได้เร็ว แต่หากไม่ได้มีการควบคุมอาหารและออกกำลังกายร่วมด้วย เมื่อหยุดยาลดความอ้วนน้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้นเช่นเดิมได้ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้หาก ใช้ยาในขนาดที่สูงเกินไป
ดังนั้น หากต้องการใช้ยาลดความอ้วน ควรปรึกษาแพทย์และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาได้มากที่สุด และหากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือมีข้อสงสัยในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail: [email protected] หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการปราบปรามและดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด