เตือนคนกรุงเสี่ยง ‘โรคตึกเป็นพิษ’
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เตือนคนกรุงเสี่ยง 'โรคตึกเป็นพิษ' Sick Building Syndrome: SBS
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเวที "สุขภาวะชุมชนอาคารชุด สร้างความสุขที่ยั่งยืน" ว่า วิถีการดูแลสุขภาพของคนเมืองในตึกสูงกลายเป็นโจทย์ใหม่ของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยอาคารชุดในกรุงเทพฯ พบว่ามีวิถีชีวิตที่เร่งรีบตอนเช้า กลับค่ำ ส่งผลต่อสภาวะความเครียด ขาดปฏิสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัย ละเลยกฎการอยู่ร่วมกัน มีลักษณะครอบครัวเดี่ยวที่มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขาดการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม และเสี่ยงต่อโรคตึกเป็นพิษ (Sick Building Syndrome: SBS) ซึ่งมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ คัดจมูก ไอ จาม เกิดผดผื่นคัน ระคายเคืองตา เนื่องจากระบบหมุนเวียนอากาศ ฝุ่นละอองและเชื้อโรคภายในตึก
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า สิ่งที่ค้นพบสอดคล้องกับผลสำรวจของสวนดุสิตโพล ในการสำรวจวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดของกรุงเทพฯ ที่พบว่า ร้อยละ 95 มองว่า การไม่ปฏิบัติตามกฎการอยู่ร่วมกันเป็นปัญหาหลักของวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน ตามด้วยต้องการกำหนดวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันเพื่อความสุขสงบ ร้อยละ 79 และความไม่รู้จักกัน ต้องการให้ผู้ดูแลคอนโดฯ ดูแลสุขทุกข์ของผู้อยู่อาศัย ร้อยละ 67
"สสส.ได้ร่วมกับกรุงเทพฯ และบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หาโมเดลการบริหารจัดการชุมชนอาคารชุด และแนวทางสร้างสุขภาวะของผู้อยู่อาศัยและใช้ชีวิตในอาคารชุด นำร่องในพื้นที่ตึกสูง 5 ชุมชน พบว่าวิธีที่ได้ผลคือ การหาแกนนำในพื้นที่มาขับเคลื่อน เรียกว่าแกนนำ 'Sook Fa' อาจเป็นผู้จัดการโครงการหรือนิติบุคคล โดยพัฒนาให้มีความรู้เรื่องสุขภาพที่ดีทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา" นพ.ชาญวิทย์กล่าว