เตือนกินเมนูหมูดิบ เสี่ยงตายเฉียบพลัน

แนะถูกความร้อน 70 องศา 10 นาที เชื้อตายหมด

เตือนกินเมนูหมูดิบ เสี่ยงตายเฉียบพลัน 

          กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยเมนูยอดนิยม เช่น ลาบ หลู้ หมูดิบ รับประทานไม่ระวังอาจได้รับเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส อันตรายถึงขั้นหูหนวก อัมพาต และเสียชีวิต แนะบริโภคเนื้อหมูต้องปรุงให้สุก อย่ากินดิบหรือสุกๆ ดิบๆ อย่างเด็ดขาด ส่วนผู้ชำแหละหรือสัมผัสหมู ควรสวมถุงมือทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

 

          นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ลาบหรือหลู้จากหมูดิบ มักผสมเลือดหมูสดคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน จัดเป็นอาหารพื้นบ้านดั้งเดิมที่มีรสชาติถูกปากผู้บริโภคในภาคเหนือ แต่อาหารชนิดนี้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตผู้บริโภคอย่างคาดไม่ถึง ประชาชนโดยทั่วไปยังขาดความรู้และไม่ตระหนักถึงพิษภัยดังกล่าว จึงมักมีข่าวผู้เสียชีวิตและพิการเกิดขึ้นเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ จากข้อมูลปี 2550 พบว่าจังหวัดพะเยามีผู้ป่วยได้รับเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส จากการบริโภคลาบหลู้หมูดิบในงานศพ 300 ราย มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว มีไข้ขึ้นสูง และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ขณะที่รายงานจากคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 – 2550 จังหวัดลำพูนพบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยปีละ 20 ราย เชียงใหม่ 10 ราย โดยพบมากในช่วงฤดูฝน

 

          ล่าสุด ในระหว่างวันที่ 2 – 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ ได้รับตัวอย่างจากโรงพยาบาล 4 แห่ง ของจังหวัดเชียงใหม่ แพร่ และน่าน ซึ่งเป็นตัวอย่างเชื้อจุลินทรีย์ที่แยกได้จากคนไข้ รวม 52 ราย เป็นชาย 45 ราย หญิง 7 ราย ที่บริโภคลาบหมูดิบ ซึ่งแพทย์สันนิษฐานว่าทั้งหมดป่วยจากการได้รับเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส และจากการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ด้วยวิธี pcr (polymerase chain rcaction) พบว่าเป็นเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส โดยเป็นชนิดสายพันธุ์ 2 จำนวน 46 ราย ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวจัดเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงสูง

 

          เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (streptococcus suis) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในหลายภูมิภาคของโลกที่มีการเลี้ยงหมู มักพบบริเวณโพรงจมูก ต่อมน้ำลาย หรือต่อมทอนซิลของหมู บางครั้งอาจพบที่ช่องคลอด สำหรับคนที่รับประทานเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆดิบๆ และผู้ที่สัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งจากหมูมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อและเจ็บป่วยได้ โดยจะแสดงอาการหลังจากที่รับประทานหมูดิบภายใน 1-3 วัน อาการในระยะแรกจะคล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คอแข็ง ปวดกระบอกตา เดินเซ การได้ยินลดลงจนถึงไม่ได้ยิน ในรายที่ติดเชื้อรุนแรง เชื้อจะแพร่กระจายไปในกระแสเลือด จนเกิดการชักเกร็งและเสียชีวิต ประมาณการได้ว่าผู้ป่วยร้อยละ 50 ที่มีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เมื่อหายป่วยจะสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกและสูญเสียการทรงตัวจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ดังนั้นหากพบอาการดังกล่าวให้สงสัยว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อและควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

 

          อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อความปลอดภัยจากการได้รับเชื้อดังกล่าว ประชาชนควรเลิกบริโภคหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ รวมทั้งระมัดระวังอาหารที่ใช้เนื้อหมูเป็นส่วนประกอบ เช่น หมูกะทะ หมูจุ่ม หมูปิ้ง ต้องให้แน่ใจว่าสุกจริงก่อนบริโภค ซึ่งโดยปกติเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส เมื่อถูกความร้อนที่ 70 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที จะถูกทำลายจนหมด และอาหารนั้นจะสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย สำหรับผู้ชำแหละหรือผู้สัมผัสเนื้อหมูควรสวมถุงมือทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามหากมีเหตุการณ์ที่น่าสงสัยว่าเนื้อหมูจากแหล่งใดอาจปนเปื้อนเชื้อนี้จนน่าจะเป็นอันตราย สามารถประสานงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ตรวจสอบ หรือนำตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

 

 

update:15-07-51

 

Shares:
QR Code :
QR Code