เติมไฟ ประกายฝันผู้ผลิตโทรทัศน์รุ่นใหม่

มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อ เด็ก ก้าวไกลทันยุคทันโลก

 

          หากเอ่ยถึงชื่อสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือที่คุ้นหูกันในชื่อย่อ สสส. น้อยคนนักที่จะไม่เคยได้ยิน เพราะมีโครงการต่างๆ ที่ สสส. เข้าไปสนับสนุนหรือรับผิดชอบมากมาย ซึ่งเราสามารถเห็นได้ผ่านสื่อต่างๆ

 

เติมไฟ ประกายฝันผู้ผลิตโทรทัศน์รุ่นใหม่          แต่พันธกิจหรือหน้าที่ของ สสส.นั้น จริงๆ แล้วคืออะไร หน่วยงานนี้มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรามากน้อยแค่ไหน ลองมาทำความรู้จักกับ สสส. และหน่วยงานในสังกัด ผ่าน โครงการเติมไฟ ประกายฝัน ผู้ผลิตโทรทัศน์รุ่นใหม่หนึ่งในโครงการที่ สสส. ให้การสนับสนุนและจัดกิจกรรมไปเมื่อเร็วๆ นี้

 

          โดยยุทธศาสตร์การดำเนินงานของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน หรือ สสย. 1 ในหน่วยงานสังกัด สสส. ช่วง 3 ปี (พ.ศ.2550-2552) จะเน้นการพัฒนาช่องทางเผยแพร่สื่อ โดยการพัฒนาสถานีโทรทัศน์ etv ให้เป็น ช่องทางเผยแพร่รายการสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน

 

          การสนับสนุนการผลิตสื่อ (รายการโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือ) เช่น รายการคู่หูทดลองวิทย์ ทางtpbs หรือ รายการคลับเอ็กซ์ ที่เคยออกอากาศทางช่อง 3 รวมไปถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็ก ผ่าน โครงการเติมไฟ ประกายฝัน ผู้ผลิตโทรทัศน์รุ่นใหม่

 

          โครงการเติมไฟ ประกายฝัน ผู้ผลิตโทรทัศน์รุ่นใหม่เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์รุ่นใหม่ ซึ่งมีความสนใจในการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว เข้าฝึกอบรมโดยวิทยากรผู้ผลิตรายการโทรทัศน์มืออาชีพ

 

          ทั้งการอบรมเชิงปฏิบัติและการศึกษาดูงานนอกสถานที่เป็นเวลา 4 วัน ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องทำรายการสารคดีเพื่อเด็กและเยาวชน ความยาว 15 นาที ภายใต้แนวคิด การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและภราดรภาพของเด็ก ทุกชาติ ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรมในประเทศไทย

 

          โครงการเติมไฟ ประกายฝัน ผู้ผลิตโทรทัศน์รุ่นใหม่ได้ทำพิธีมอบใบประกาศนียบัตร ในงานประกาศผลตัดสินผลงานและมอบรางวัลไปแล้ว ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมี นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธาน

 

          ถือว่าโครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ด้วยความร่วมมือจากนักวิชาการจนถึงผู้ผลิตรายการที่คร่ำหวอดในวงการการทำสารคดีหลายท่าน ในการเป็นวิทยากรและกรรมการการตัดสิน

 

          เช่น รศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณประสาน อิงคนันท์ จากทีวีบูรพา คุณสืบสกุล พันธ์ดี ฝ่ายจากช่อง 5 เป็นต้น

 

          สำหรับทีมผู้ชนะทั้ง 5 ทีม ไม่ใช่เพียงรับเงินรางวัล รับใบประกาศแล้วโครงการจะจบลงเพียงเท่านี้ เพราะทั้ง 5 ทีม จะได้รับทุนสำหรับในการทำสารคดีเรื่องต่อไป

 

          และผลงานทั้ง 5 ทีม จะได้รับการเผยแพร่ทางช่อง etv

 

          นอกจากนี้ ยังจะมีการต่อยอดเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอีก เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ โดย นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน กล่าวถึงโครงการนี้ว่า

 

          ในปัจจุบันรายการสำหรับเด็กและเยาวชนมีน้อย ทาง สสย. จึงทำการส่งเสริมให้เกิดรายการดีๆ ขึ้นมา โดยต้องผลิตคนทำรายการรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันก็มีความตื่นตัวในการอยากทำสื่อกันอยู่แล้ว และมีช่องทางที่จะทำได้ง่าย เช่น เว็บไซต์

 

          แต่สำหรับสื่อโทรทัศน์ ถึงมีผู้สนใจมากแต่การลงทุนเองนั้นทำยาก เพราะขาดเงินทุนและหาเวทีในการแสดงฝีมือได้ยาก ทาง สสย. เล็งเห็นในจุดนี้จึงได้คิดทำโครงการดังกล่าวขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์

 

 

 

 

update 20-02-52

 

Shares:
QR Code :
QR Code