เติมทักษะป้องกันตนเองนอกเวลาเรียน
"LIFESKILLS" หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจของโครงการ "SOOK Kiddy Camp" กับการพัฒนาทักษะชีวิต ซึ่งช่วยให้เด็กๆ สามารถเผชิญสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัว ในอนาคต
แฟ้มภาพ
เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ได้รับความสนใจ และสร้างความประทับใจกับเยาวชนผู้เข้าร่วม กิจกรรมอย่างมากในช่วงระยะปิดเทอมที่ผ่านมา โดยถือว่า เป็นการศึกษานอกโรงเรียนเพิ่มเติมอีกหลักสูตรหนึ่ง
ผลจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปิดเทอม เพื่อสร้างสรรค์ เวลาที่มีคุณค่าให้กับเยาวชนในช่วงที่ว่างเว้นจากการเรียน กลายเป็น "สิ่งหนึ่ง" ที่ผู้ใหญ่วันนี้ ควรที่จะสืบสานให้เกิด การต่อเนื่อง หรือ ต่อยอดให้กว้างขวางออกไป แม้ว่า "ช่วงเวลา ของการปิดเทอมจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม"
แต่หากนำเอากิจกรรมดังกล่าวนี้มาบูรณาการเข้ากับโครงการ "ลดเวลาเรียนเพิ่มการเรียนรู้" ที่จัดขึ้นทุกวัน ก่อนจะกลับบ้าน ก็น่าจะถือว่าเป็นการต่อยอด และ สร้าง ทักษะชีวิต ให้แก่เยาวชนของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายนครินทร์ ภระมรทัต นักวิชาการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่า ทักษะชีวิต คือ ความสามารถในการแก้ปัญหาที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย และ สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข นับเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคปัจจุบัน เพื่อใช้ในการป้องกันอันตรายจากภัยรอบข้าง ภัยใกล้ตัว ภัยจากมนุษย์ รวมไปถึงการช่วยเหลือ การแจ้งเหตุที่ถูกต้อง ซึ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิต เพื่อให้เด็กและเยาวชน มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาวะ มีประสบการณ์ตรง สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง
นายนครินทร์ ย้ำว่า "ความปลอดภัย และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กเป็นสถานการณ์ที่เปรียบเสมือนเส้นบางๆ ซึ่งอาจเป็นเรื่องสุดวิสัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม แต่ส่วนใหญ่ เราสามารถป้องกันได้ ตั้งแต่การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การระมัดระวังให้เด็กอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ แต่ภูมิคุ้มกันที่ดีและยั่งยืนที่สุด คือการสร้างทักษะการเอาตัวรอด การแก้ปัญหา การช่วยเหลือตัวเองและเพื่อนให้มีในเด็กทุกคน"
ครูตุ้ม-ทศพล ศรีไชยะ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะป้องกันตัว สถาบันอรรถยุทธ์ ศูนย์กีฬากองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทักษะที่นำมาสอนน้องๆ ในกิจกรรม LIFESKILLS คือ ไอคิโด้ เป็นศิลปะการป้องกันตัวจากญี่ปุ่น ปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วโลก มีการนำไป ผสมผสานกับวิชาอื่น เช่น การควบคุมเหตุร้ายของตำรวจ ทหาร การรักษาความปลอดภัย การให้คำปรึกษา และจิตบำบัด ซึ่ง ไอคิโด้ เป็นศิลปะป้องกันตัว ไม่ใช่ กีฬา เหมือน เทควันโด หรือ ยูโด จึงไม่มีการแข่งขัน แต่เป็นการป้องกันตัวจากการ กระทำทุกรูปแบบทั้งมือเปล่าและมีอาวุธ ในระยะกระทำ ประชิดตัว โดยการหักข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย อาทิ ข้อมือ ข้อศอก คอ หลัง หัวเข่า ข้อเท้า และพร้อมๆ กันนั้น มีลักษณะ การเหวี่ยงทุ่มกระแทกพื้น
ครูทศพล กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า "ที่สำคัญคือ ไอคิโด้ เป็นศิลปะป้องกันตัวที่เด็ก และผู้หญิงสามารถฝึกได้ง่ายๆ เพราะใช้พลังทางกายน้อย เน้นใช้พลังสมอง คิดหาวิธีควบคุม คู่ต่อสู้ โดยจูงใจคู่ต่อสู้ให้ดำเนินไปในทิศทางที่เราต้องการ ซึ่งอาศัยแรงของคู่ต้องสู้ ทำร้ายตัวเขาเอง เมื่อน้องที่ร่วม กิจกรรมได้ลองฝึกฝน นอกจากจะได้ฝึกเพื่อป้องกันตนเองแล้ว ยังเป็นการฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง และโดยวัฒนธรรมของไอคิโด้ ของญี่ปุ่น ที่จะมีการเคารพกันอย่างเคร่งครัด ทำความเคารพ อาจารย์ มีการขอบคุณคู่ซ้อมเสมอ ทำให้บรรยากาศในการเรียน เป็นไปด้วยดี ไม่หยาบคายต่อกัน ปลูกฝังจิตใจที่ดีงามให้ เด็กได้ดี"
เราลองมาฟังเสียงจากเยาวชนที่มีประสบการณ์ของเยาวชนที่เคยฝึกกิจกรรมนี้มาแล้วในช่วงปิดเทอมกันบ้าง ว่า พวกเขามีความเห็นกันอย่างไร กับการได้ร่วมในกิจกรรม "LIFESKILLS"
ด.ช.ยส ศรีมัญจันณทา หรือน้องจีเนียส วัย 10 ปี บอกความรู้สึกที่เข้าร่วมกิจกรรมว่า ชอบกิจกรรมไอคิโด้มาก เพราะได้ขยับร่างกาย ได้รู้ว่าเราสามารถป้องกันตนเองจากคน ที่ตัวใหญ่กว่าอย่างไร ปกติชอบดูศิลปะการต่อสู้หลายแบบ พอได้ฝึกก็รู้สึกสนุกและอยากเรียนรู้มากขึ้น นอกจากนี้ การเข้าค่ายทำให้ได้เพื่อนใหม่ ได้รู้จักพี่ๆ ที่ใจดี ทำให้ไม่รู้สึก เบื่อด้วย
น้องดิสนีย์ ด.ญ.สุชาวลี เจริญ วัย 10 ปี บอกเช่นเดียวกันว่า ชอบและสนุกกับกิจกรรมครั้งนี้มาก ได้ทำกิจกรรมมากมายที่ไม่เคยได้ทำในโรงเรียน โดยเฉพาะกิจกรรม ไอคิโด้ ได้ลองฝึกป้องกันตัวเอง ได้เรียนรู้ว่าอันตรายมีอยู่ รอบตัว ต้องรู้จักระวังตนเอง ถ้ามีกิจกรรมอีกในปีต่อไป ก็อยากจะมาร่วมอีกแน่นอนค่ะ
ทุกวันนี้ในเวลาที่เด็กไม่ได้อยู่ในสายตาผู้ปกครอง เหตุร้ายอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ "วิชาการต่อสู้ป้องกันตัว" จึงถือเป็นทักษะหนึ่งที่ผู้ใหญ่ควรจะช่วยเสริมให้เด็กมีสติ และปลอดภัยมากขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า