เตรียมแผนเชิงรุก ลดเจ็บตายช่วงปีใหม่
สาธารณสุข มหาดไทย ตำรวจ เตรียมส่งประชาชนกลับบ้านฉลองเทศกาลปีใหม่ 2558 อย่างมีความสุข บูรณาการทำงานเชิงรุกแนวใหม่ ป้องกัน ลดเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุจราจร ตั้งด่านชุมชน กว่า 60.000 แห่ง
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค นายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ ผอ.ส่วนยุทธการและการข่าว กรมการปกครอง และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าว มาตรการป้องกันอุบัติเหตุจราจร เพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2558
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ในปีนี้เน้นการทำงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อป้องกันและลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยอื่นๆ อย่างเต็มที่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2557 – 5 มกราคม 2558 โดยจะพยายามลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเสียชีวิตให้น้อยกว่าเทศกาลปีใหม่ 2557 ซึ่งในช่วง 7 วันของปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 366 ราย มีอุบัติเหตุจำนวน 3,174 ครั้ง และมีผู้บาดเจ็บนอนโรงพยาบาล 3,345 ราย สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรม เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ง่วง/หลับใน และสิ่งที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ การไม่สวมหมวกกันน็อค ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย นั่งท้ายรถกระบะ หรือมีวัตถุอันตรายอยู่ข้างทางถนน โดยเฉพาะวันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันที่พบอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับสูงถึงร้อยละ 70 พบมากในช่วงเวลาเย็น/หัวค่ำไปจนถึงหลังเที่ยงคืน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อนุญาตให้จำหน่ายสุราได้ และมีงานเลี้ยงสังสรรค์ มีการดื่มสุรา การบาดเจ็บในกลุ่มนี้ มักจะเกิดกับผู้ใช้จักรยานยนต์ บนถนนหมู่บ้านและถนนสายรอง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายวัยรุ่นและวัยทำงาน ดังนั้น มาตรการลดปัญหาอุบัติเหตุจราจรในเทศกาลปีใหม่ 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะใช้กลยุทธ์ทำงานเชิงรุก โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบูรณาการร่วมกับชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงก่อนเทศกาล เน้นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย ปลูกฝังพฤติกรรม การสวมหมวกนิรภัย เมาไม่ขับ และการขับขี่ปลอดภัย เพื่อเป็นการป้องกันและลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งสำรวจหาข้อมูลความเสี่ยง ทั้งคน รถ ถนน รวมทั้งจุดที่ขายสุรา
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ช่วงเทศกาล คือช่วง 7 วันอันตราย ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2557 – 5 มกราคม 2558 จะเน้นให้เจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุก ไม่นั่งเฝ้าเต็นท์ข้างถนน และใช้มาตรการใหม่ 2 มาตรการ คือ ตั้งด่านชุมชนโดยเฉพาะที่ ปากทางเข้าหมู่บ้านหรือชุมชน ซึ่งมีประมาณ 60,000 จุดทั่วประเทศ โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับฝ่ายปกครอง อาสาสมัครป้องกันภัยฯในชุมชนและประชาชน เพื่อใช้เป็นจุดตรวจ จุดบริการในตำบล/หมู่บ้าน หรือชุมชน สกัดกั้นกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย คนที่ดื่มแล้วขับ หรือผู้ที่ขับหรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ไม่ใส่หมวกกันน็อค ผู้ที่ขับรถเร็ว หากพบจะพูดคุยทำความเข้าใจ ตักเตือน หรือยึดกุญแจรถ ถ้าเป็นเด็กจะเชิญผู้ปกครองมารับตัวกลับบ้าน กรณีที่ฝ่าฝืน/ไม่เชื่อฟัง จะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ และจัดหน่วยเฝ้าสถานที่จัดงานเลี้ยง รวมทั้งดูแลกลุ่มเด็ก เยาวชนอย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนช่วงหลังเทศกาล จะติดตามผล ทบทวนการทำงานระดับจังหวัดและระดับประเทศ เพื่อวางแผนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเทศกาล
ท้ังนี้ ในส่วนของการดูแลการเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งจากอุบัติเหตุจราจรและโรคอื่นๆ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมโรงพยาบาลในสังกัด และร่วมมือกับโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ เช่น กระทรวงกลาโหม ทบวงมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ รวมกว่า 1,500 แห่ง เตรียมพร้อมหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ รถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมเครื่องมือแพทย์ปฏิบัติการวันละ 4,915 คัน สามารถออกไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุหลังรับแจ้งภายใน 10 นาที โดยมีศูนย์สื่อสารรับแจ้งเหตุ และสายด่วนโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉิน และประจำหอผู้ป่วย รวมจำนวนกว่า 100,000 คน สำรองคลังเลือดทุกหมู่ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ยา จัดแพทย์ผ่าตัดทุกสาขาประจำการตลอด 24 ชั่วโมง ประมาณ 1,500 คน สามารถทำการผ่าตัดได้ทันที โดยเพิ่มเตียงรองรับอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากปกติอีกร้อยละ 10 มีศูนย์ประสานการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักไปรักษาอย่างรวดเร็วมากกว่า 90 แห่ง ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ทันที ไม่ต้องสำรองจ่าย ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวของรัฐบาล เพื่อป้องกันการเสียชีวิต หรือความความพิการ ให้ได้มากที่สุด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้ควบคุมการขายและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ พ่อค้า แม่ค้าทุกจังหวัดทุกพื้นที่ ให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ที่ห้าม เช่น วัด โรงเรียน สวนสาธารณะ ปั๊มน้ำมัน ห้ามขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามขายนอกเหนือเวลาที่กำหนดให้ขายได้ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนถนนขณะขับขี่ หรือขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถ หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างไม่ละเว้น โดยเปิดสายด่วนรับแจ้งผู้กระทำผิดตลอด24 ชั่วโมง ทางหมายเลข 1422 และ 0-2590-3342 หากจังหวัดใดสามารถลดการตายจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 เป็นศูนย์ได้ มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะมีรางวัลมอบให้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจกับคนทำงานด้วย
ที่มา : เว็บไซต์สถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ สวพ.FM91
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต