เตรียมเสนอที่ประชุม คกก.แก้ปัญหาสารเคมีฯ
ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการ
คกก.ปฏิรูปสาธารณสุข หารือ รมว.สธ. เห็นร่วมกันชัดเจนแบน 3 สารเคมี เตรียมเสนอที่ประชุม คกก.แก้ปัญหาสารเคมีฯ หาข้อยุติวันที่ 22 ส.ค.นี้
ความคืบหน้าการหาทางออกกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด โดยนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อหาข้อยุติ ขณะที่ รมว.สาธารณสุข ยืนยันจุดยืนว่า ต้องแบนสารเคมีทั้ง 3 ตัว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า วันที่ 16 ส.ค. คณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้ประชุมหารือร่วมกับ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นการประชุมเฉพาะกิจในเรื่องของงานปฏิรูปสาธารณสุขต่างๆ โดยเรื่องปัญหาสารเคมีอันตราย หรือสารพิษที่มีผลต่อประชาชน เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญมาก ซึ่งจากการประชุมหารือ ได้ข้อสรุปว่า นพ.ปิยะสกล แสดงจุดยืนชัดเจนต้องไม่ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด แม้สารเคมีไกลโฟเซต เดิมจะให้จำกัดการใช้ แต่ปัจจุบันมีข้อมูลอันตรายจำนวนมาก จึงต้องแบนร่วมกันทั้งหมด ซึ่งเมื่อรัฐมนตรี สธ. มีจุดยืนเช่นนี้ คณะกรรมการปฏิรูปฯ ก็จะหารือกับคณะกรรมการปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และจะเสนอในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจะประชุมวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ที่อาคารปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ขณะเดียวกันเราได้ส่งข้อมูลเสนอไปยังทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเช่นกัน
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวได้มีการพิจารณา ว่า กรณีมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายขัดกับมติที่กระทรวงสาธารณสุขเคยรวบรวมข้อมูลวิชาการทั้งในและต่างประเทศไว้ชัดเจน โดยออกเป็นมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ระบุว่า ยกเลิกการใช้พาราควอตทางการเกษตร และคลอร์ไพรีฟอสในบ้านเรือน สาธารณสุข และการเกษตร ภายในธันวาคม 2561 และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตอย่างเข้มงวด ปัญหาคือ เมื่อพิจารณามติดังกล่าว กลับพบว่ามีประกาศฉบับหนึ่งของทางกรมวิชาการเกษตรระบุว่าให้ขยายการขึ้นทะเบียนไป 5 ปี ซึ่งขัดกันอย่างเห็นชัด เนื่องจากมติของกระทรวงสาธารณสุขเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบราชการแผ่นดินตามมาตรา 3/1 ที่ระบุชัดว่า การบริหารราชการต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ดังนั้น กรณีนี้หากประชาชนหรือกลุ่มใดจะฟ้องว่าขัดต่อมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ที่ละเมิดหน้าที่พึงปฏิบัติย่อมได้ ซึ่งก็ต้องจับตามองว่า สุดท้ายแล้วนโยบายเรื่องสารเคมีที่ก่ออันตรายต่อสุขภาพประชาชนจะเป็นอย่างไร