เตรียมร่างกายไม่ให้ป่วยช่วงหน้าร้อน

เตรียมร่างกายไม่ให้ป่วยช่วงหน้าร้อน thaihealth


แฟ้มภาพ


 สธ.แนะประชาชนเตรียมร่างกายให้พร้อมรับอากาศร้อนจัด ป้องกันป่วย 4 โรค โรคลมแดด โรคเพลียแดด โรคตะคริวแดด และ ผิวหนังไหม้แดด แนะเลี่ยงอยู่กลางแดด ดื่มน้ำให้เพียงพอ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่โปร่ง งดดื่มเหล้า เช็ดตัวหากร้อนจัด 


นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หน้าร้อนปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่า กลางเดือนมีนาคม-กลางเดือนเมษายน อากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดอาจสูง 43-44 องศาเซลเซียส  แสงแดดจะแรง อากาศร้อนจัด และมีความชื้นสัมพัทธ์สูง ทำให้เหงื่อไม่สามารถระเหยพาความร้อนออกจากร่างกายได้ ประชาชนอาจได้รับความร้อนมากจนเกินไปและเกิดภาวะขาดน้ำ เสี่ยงต่อการป่วย 4 โรคหลักๆ ได้แก่ 1.โรคลมแดดหรือฮีสโตรก (Heat Stroke) 2.โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) 3.โรคตะคริวแดด (Heat Cramps)และ4.ผิวหนังไหม้แดด (Sunburn)


ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่ง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข ให้ประชาสัมพันธ์ความรู้ คำแนะนำในการดูแลตัวเองในช่วงที่อากาศร้อนจัดให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่นออกกำลังกาย กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ประชาชนสามารถเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมรับอากาศร้อน ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วหรือประมาณวันละ 2 ลิตร สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี ใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไปก่อนออกแดด 30 นาที เด็กเล็กหรือคนชราที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยควรดูแลเป็นพิเศษ โดยจัดให้อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือห้องที่ระบายอากาศได้ดี อย่าเพิกเฉยต่อความรู้สึกร้อนหรือเหนื่อยเกินไปของเด็กและคนชรา อย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด


“ในกรณีที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง กลางแดดร้อน ขอให้ดื่มน้ำเย็น 2-4 แก้วทุกชั่วโมง หากเสียเหงื่อมากให้ดื่มน้ำเกลือแร่ในช่วงที่อากาศร้อนจัดมาก ขอให้ประชาชนควรอยู่ในอาคาร ส่วนวิธีที่ดีที่สุดในการลดอุณหภูมิของร่างกาย คือ ให้อาบน้ำหรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว” นายแพทย์โสภณ กล่าว


 


 


ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code