เตรียมรับสังคมผู้สูงอายุใน “วันส้วมโลก”
กระทรวงสาธารณสุข ประกาศความสำเร็จในการดำเนินงานส้วมของประเทศไทย เผย 10 ปี ช่วยให้คนไทยได้ใช้ส้วมสาธารณะที่สะอาด ได้มาตรฐาน เพิ่มร้อยละ 70…
พร้อมจับมือเครือข่ายรณรงค์วันส้วมโลก เร่งสร้างและปรับปรุงส้วมให้กับโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารให้ใช้งานได้ตามมาตรฐานจำนวน 60 โรงเรียนทั่วประเทศ ตามโครงการสุขอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการแถลงข่าวรณรงค์วันส้วมโลกว่า วันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การส้วมโลกกำหนดให้เป็น “วันส้วมโลก” (world toilet day) เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการรณรงค์กิจกรรมต่างๆ ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของความสะอาดในห้องน้ำห้องส้วมมากขึ้น เนื่องจากเป็นสถานที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันในการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมรณรงค์วันส้วมโลก และขอประกาศความสำเร็จในการดำเนินงานส้วมของประเทศไทย จากโครงการรณรงค์ สร้างส้วม 100 เปอร์เซ็นต์ โดยประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) เป้าหมายที่ 7 รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เรื่องการลดสัดส่วนประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำดื่มสะอาด และห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2558
โดยมีสัดส่วนประชากรในเมืองที่ใช้ส้วมถูกสุขลักษณะร้อยละ 99.8 และสัดส่วนประชากรในชนบทที่ใช้ส้วมถูกสุขลักษณะร้อยละ 99.6 และสำหรับปี 2557 นี้ถือเป็นวาระ 1 ทศวรรษแห่งการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ส่งผลให้คนไทยได้ใช้บริการส้วมสาธารณะที่สะอาด ได้มาตรฐาน จากร้อยละ 9.08 ในปี 2549 เพิ่มเป็นร้อยละ 70.33 ในปี 2557
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า นับจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินงานเรื่องส้วมของประเทศไทย โดยพัฒนา ส้วมสาธารณะให้สะอาดได้มาตรฐาน เพียงพอ เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มวัยและที่สำคัญคือน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มาปฏิบัติ กล่าวคือ 1) เร่งดำเนินงานตามแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556-2559) ให้ส้วมสาธารณะได้มาตรฐานHAS บรรลุเป้าหมาย ร้อยละ 90 ในปี 2559 2) ส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรม การใช้ส้วมที่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้น3) รองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมจากการใช้โถส้วมแบบนั่งยอง เป็นเวลานาน ด้วยการส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนเห็นความสำคัญของโถส้วมแบบนั่งราบสำหรับผู้สูงอายุ และกำหนดให้ ส้วมสาธารณะมีโถส้วมแบบนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่ไว้ให้บริการ เพื่อให้ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ 4) พัฒนาการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืน โดยการนำของเสียจากส้วม เช่น ปัสสาวะ มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และผลักดันให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นมีระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาลและนำสิ่งปฏิกูลที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ประโยชน์ทางการ เกษตร และ5) เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2558 กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการสุขอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อปรับปรุงและสร้างส้วมให้กับโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารจำนวน 60 โรงเรียน
ทางด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ดำเนินงานด้านสุขาภิบาลของประเทศมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2503 ด้วยการสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนมีและใช้ส้วม เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายของ เชื้อโรค จนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ เนื่องจากส้วมต้องมีการทำความสะอาดที่ถูกวิธี มีการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินการพัฒนาส้วมสาธารณะให้สะอาด ได้มาตรฐาน ให้ประชาชนที่ใช้บริการนำไปเป็นตัวอย่างใน การดูแลส้วมบ้าน และยังส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้องอีกด้วย ประกอบกับปัจจุบันการเปลี่ยนแปลง ด้านโครงสร้างประชากรไทย ที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเตรียมการรองรับด้านสุขภาพผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยจากโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งจากสถิติผู้ป่วย โรคกระดูกและข้อในไทยของมูลนิธิโรคข้อในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี พบว่า ปี 2549 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมกว่า 6 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้โถส้วมแบบนั่งยองติดต่อกันเป็นเวลานาน กรมอนามัยจึงส่งเสริมให้ครัวเรือนเห็นความสำคัญของการใช้โถส้วมแบบ นั่งราบ และกำหนดให้ส้วมสาธารณะที่ได้มาตรฐาน HAS ต้องจัดให้มีโถส้วมแบบนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่ไว้บริการประชาชน
ที่มา: เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต