เตรียมรับมือโรคติดต่อชายแดน

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ติดตามความเสี่ยงเกิดโรคติดต่อจากแรงงานต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะโรคติดต่อสำคัญตามแนวชายแดน 


         /data/content/27102/cms/e_cgjnoqruv158.jpg


          นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีการเตรียมพร้อมสำหรับการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายของประชากรและสินค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงเกิดโรคติดต่อจากแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสำคัญตามแนวชายแดน เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย และวัณโรค เป็นต้น ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ จึงมีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 (IHR2005) เนื่องจากเป็นช่องทางเข้าออกที่สำคัญของคนและพาหะนำโรคได้


          กรมควบคุมโรค มีการเตรียมความพร้อมรองรับการระบาดของโรค โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน ดังนี้ 1.มีระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคในพื้นที่ชายแดนที่เข้มแข็ง และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างเครือข่าย 2.มีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ที่มีประสิทธิผล รวมถึงมีการสอบสวนโรคร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในกรณีที่มีการระบาดของโรคเกิดขึ้น 3.ด่านป้องกันควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎอนามัยระหว่างประเทศ 4.มีแผนงานการป้องกันควบคุมโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสำคัญในบริเวณ ชายแดนบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และ 5.มีการผลักดันให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างจังหวัดชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเตือนภัยและเฝ้าระวังโรคติดต่อที่สำคัญ


         ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคติดต่อสำคัญตามแนวชายแดนที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ ไข้เลือดออก มาลาเรีย และวัณโรค ซึ่งการควบคุมโรคต้องมีการดำเนินงานที่เข้มแข็งและต่อเนื่องในด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยมีการดำเนินงานด้านสาธารณสุขที่ช่องทางเข้าออกประเทศใน 4 มาตรการหลัก ดังนี้


        1.ตรวจสอบประวัติการเดินทางในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ตรวจสอบหลักฐานการตรวจร่างกาย และผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ตรวจสอบหลักฐาน การได้รับวัคซีนและการป้องกันโรคอื่นๆ


        2.ให้ผู้เดินทางขาเข้าต้องรับการตรวจทางการแพทย์ที่ต้องใช้หัตถการที่ทำให้บาดเจ็บหรือล่วงเกินที่น้อยที่สุด การให้วัคซีน หรือการให้ยาป้องกันโรคอื่นๆ ที่พิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยงด้านสาธารณสุขเกิดขึ้นในการอนุญาตให้เดินทางเข้าเมือง หรือขอตรวจสอบเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน


        3.หากผู้เดินทางไม่ยินยอมรับมาตรการตามข้อ 2 ไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางนั้นเข้าประเทศได้


        4.มาตรการด้านสาธารณสุขเพิ่มเติมอื่นๆ เพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรค ได้แก่ การแยกกัก การกักกัน หรือ การเฝ้าสังเกตด้านสาธารณสุขให้ดำเนินการติดตามหาผู้ที่สัมผัสกับบุคคลต้องสงสัยหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ


 


 


         ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


 

Shares:
QR Code :
QR Code