เตรียมรับมือปัญหาสุขภาพผู้สูงวัย
กรมการแพทย์จับมือศิริราชอบรมการจัดการปัญหาสุขภาพผู้สูงวัย
แฟ้มภาพ
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานในพิธีเปิดอบรมระยะสั้นเรื่อง "การจัดการกับ ปัญหาทางคลินิกที่พบบ่อยในผู้ป่วยสูงอายุ" เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลกทำให้สัดส่วนของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบจำนวนประชากร ผู้สูงอายุประเทศไทย ปี พ.ศ.2533 มีร้อยละ 7.4 ปี พ.ศ.2543 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.5 และคาดว่า พ.ศ.2563 จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.3 และข้อมูลจากสถาบันประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คาดการณ์อายุเฉลี่ยของประชากร พ.ศ.2557 ในเพศชายมีอายุเฉลี่ย 71.3 ปี และเพศหญิงมีอายุเฉลี่ย 78.2 ปี แสดงให้เห็นว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในอนาคตอันใกล้ โดยสาเหตุที่ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นผลจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ปี 2555 พบโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ 5 อันดับแรกในเพศชาย ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งตับ สำหรับโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุเพศหญิง ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ต้อกระจก และโรคสมองเสื่อม ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ สูง และไม่ได้เจ็บป่วย ด้วยโรคใดเพียงโรคเดียว ส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัว อย่างน้อย 1 โรค โดยเฉพาะผู้สูงอายุยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไรยิ่งมีปัญหาสุขภาพมากขึ้นตามอายุด้วย และ ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วยสูงอายุจะมีความพิเศษกว่าการดูแลผู้ป่วยวัยอื่น
ดังนั้น กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบงานวิชาการด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้าน ผู้สูงอายุ จึงได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จัดอบรม "การจัดการปัญหาทางคลินิกที่พบบ่อยใน ผู้สูงอายุ" โดยมุ่งหวังให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ได้รับการพัฒนาทักษะในการดูแลรักษาผู้สูงอายุ เพื่อให้นำความรู้ไปใช้ในการดูแลรักษาผู้สูงอายุ พร้อมทั้งสามารถประเมินปัญหา เพื่อวางแผนให้การรักษาพยาบาล และหาแนวทางช่วยเหลือผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งการดูแลสุขภาพของ ผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี ประกอบด้วย การรับประทานอาหาร เลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ พืช ผัก ผลไม้ สมุนไพร ธัญพืชไม่ขัดสี การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ให้เหมาะสมตามสภาวะร่างกาย และความถนัดของแต่ละบุคคล
การฝึกจิตสมาธิ หมั่นฝึกจิต สมาธิเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอารมณ์ การสันทนาการ หางานอดิเรกหรือกิจกรรมที่สมกับวัย พบปะพูดคุยกับผู้อื่น เพื่อสร้างคุณค่าในตนเอง การปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก ควรอยู่สภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยในที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงความเครียด ควันบุหรี่ ควันไฟ สารเคมี สุรา และสิ่งเสพติดต่างๆ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า