เตรียมพร้อม 5 สถานสงเคราะห์ พัฒนาทักษะชีวิต-อาชีพเด็กก่อนสู่สังคม

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


เตรียมพร้อม 5 สถานสงเคราะห์ พัฒนาทักษะชีวิต-อาชีพเด็กก่อนสู่สังคม thaihealth


ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนในสถานรองรับเด็ก (สถานสงเคราะห์) ตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปี จำนวน 30 แห่งทั่วประเทศ มีเด็กในความอุปการะ 6,513 คน เด็กใน สถานสงเคราะห์มีความหลากหลาย เช่น กำพร้า พิการ ครอบครัวยากจน ครอบครัวไม่พร้อมด้านสภาพแวดล้อม และไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของเด็ก เด็กติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น


ด้วยเด็กกลุ่ม ดังกล่าวต้องได้รับการดูแลแบบพิเศษเนื่องจากสภาพปัญหาที่พบเจอ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท.) จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานรองรับเด็กของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ภายใต้โครงการเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคมอย่างเป็นสุข โดยมุ่งเน้นเสริมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ออกจากสถานสงเคราะห์อย่างมีคุณภาพ


เด็กขาดความภูมิใจเป้าหมายในชีวิต


สมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กล่าวว่า เด็กที่เข้ามาอยู่ในสถานสงเคราะห์ล้วนพบเจอปัญหาที่ แตกต่างกันออกไป บางรายมีความเปราะบางและเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อทางสังคมได้ง่ายเมื่อออกสู่โลกภายนอก จึงมักพบปัญหาร่วมของเด็กคือ ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง ขาดแรงบันดาลใจและการตั้งเป้าหมาย ในชีวิต และขาดการฝึกฝนทักษะชีวิตในหลายๆ ด้าน


ซึ่งการแก้ปัญหา ดย.ได้ดำเนินตามแผนกลยุทธ์กรมกิจการเด็กและเยาวชน ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2560-2564 ) ที่มุ่งเสริมสร้างทักษะชีวิต เด็กและเยาวชนตามช่วงวัย โดยเน้นการ เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต  มุ่งให้เกิดวินัยและคุณธรรม มีความรับผิดชอบ เรื่องการดูแลสุขภาพทางเพศ และมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา


"สถานสงเคราะห์จะดูแลเด็กตั้งแต่ แรกเกิดจนอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สิ่งที่เป็นปัญหา ที่พบเจอคือเมื่อเขาอายุ 18 ปีบริบูรณ์ก็ต้อง ออกจากสถานสงเคราะห์ และรัฐบาลไม่ได้ ช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ต่อ ทำให้หลายสถานสงเคราะห์ต้องหาทางช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ โดยที่ผ่านมามีหลากกิจกรรม และพยายามส่งเด็กให้ไปเป็นบุตรบุญธรรมเร็วที่สุด หรือการเพิ่มทักษะอาชีพ การมีงานทำ แต่ต้องยอมรับว่าเด็กกลุ่มดังกล่าวไปสู่อาชีพได้ประมาณ 10% และวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่อยากเรียนรู้ ต่อให้มีการอบรมอาชีพก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การลงนามในครั้งนี้เป็นโครงการระยะกลาง 3 ปี เป็นการนำร่องที่กรมและหน่วยงานอีก 2 แห่งได้ร่วมกันดูแลเด็กเหล่านี้ให้ออกสู่สังคมมีคุณภาพ" สมคิด กล่าว


นำร่อง 5 สถานสงเคราะห์สู่ต้นแบบ


การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ดย.ได้กำหนดให้มีนโยบายการพัฒนาระบบคุณภาพสถานรองรับเด็ก ในสถานรองรับเด็กนำร่องทั้ง 5 แห่ง คือ 1.สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านปากเกร็ด 2.สถานสงเคราะห์เด็กหญิงอุดรธานี 3.สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านราชสีมา 4.สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านเชียงใหม่ และ 5.สถานสงเคราะห์เด็กปัตตานี พัฒนาสู่เป็นต้นแบบในการจัดสวัสดิการด้านเด็กและเยาวชนและเป็นศูนย์การเรียนรู้ และขยายผลการดำเนินงานไปสู่สถานรองรับเด็กอื่นๆ ทั้ง 16 แห่ง ในประเภทสถานรองรับเด็กอายุ 6-18 ปี ทั้งหญิงและชาย จำนวน 2,620 คน รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและระบบบริหารจัดการองค์กรที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม


เตรียมพร้อม 5 สถานสงเคราะห์ พัฒนาทักษะชีวิต-อาชีพเด็กก่อนสู่สังคม thaihealth


สสส.สร้างเด็กด้อยโอกาสให้ชีวิตมั่นคง


สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพในเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งในกลุ่มเด็กเยาวชนเป็นกลุ่มสารตั้งต้นที่ต้องได้รับการเติมเต็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กกลุ่มเปราะบาง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และพัฒนาศักยภาพในการพึ่งตนเอง ผ่านระบบและกลไกการพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ที่ได้รับการเสริมสร้างศักยภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอก โครงการเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคมอย่างเป็นสุข มุ่งหวังเกิดการพัฒนาระบบคุณภาพสถานรองรับเด็ก เน้นผลลัพธ์ ที่ตัวเด็กและเยาวชน เกิดสถานรองรับเด็กต้นแบบที่สามารถขยายผลการดำเนินงานไปสู่สถานรองรับเด็กอื่นๆ


ทั้งนี้จะพัฒนาบุคลากรผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานในระบบบริการหลักของสถานรองรับให้มีความรู้ความสามารถในการเตรียมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคม ที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติได้ และจะสร้างความร่วมมือ ช่วยสานสภาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพมากขึ้น 1.8 แสนคน สนับสนุนเกิดกิจกรรมที่มีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กและเยาวชน คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมภายนอก และมีความพร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ เป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป ในอนาคต


เตรียมพร้อม 5 สถานสงเคราะห์ พัฒนาทักษะชีวิต-อาชีพเด็กก่อนสู่สังคม thaihealth


3 ปี เกิดนวัตกรรมเทียบระดับ 2 ชุด


ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท.) กล่าวว่า สวท.ตระหนักถึงความจำเป็นเตรียมความพร้อม เด็กเยาวชนออกสู่สังคม โดยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจและสังคม ให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์


สำหรับโครงการมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยเน้น 3 เรื่อง คือ 1.พัฒนากระบวนการและชุดความรู้สำหรับการพัฒนาระบบคุณภาพสถานรองรับเด็กนำร่องทั้ง 5 แห่งให้เป็นต้นแบบ เพื่อการขยายผลการดำเนินงานไปสู่สถานรองรับเด็กอื่นๆ จนครบ 16 แห่ง 2.พัฒนาบุคลากรผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานในระบบบริการหลักของสถาน รองรับเด็ก 3.สนับสนุนให้สถานสงเคราะห์เป้าหมาย 5 แห่งเป็นสถานสงเคราะห์เปิด


โดยดำเนินการให้สถานรองรับเด็กทำงานแบบมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เกิดนวัตกรรม เครื่องมือเทียบระดับ (Benchmarking) จำนวน 2 ชุด (คู่มือเทียบระดับและคู่มือระบบคุณภาพสถานสงเคราะห์) ที่ครอบคลุมเรื่องการประเมินตนเอง (Self-Assessment Tools) และคู่มือการพัฒนาบุคลากรในระบบบริการหลัก (Programming Tools) 5 โปรแกรม และมีบุคลากรดูแลเด็กที่มีศักยภาพตามตัวชี้วัดในระบบหลักทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการเรียนรู้, ด้านการดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัย, ด้านนันทนาการ และด้านการศึกษาและวิชาชีพ


เพิ่มคุณภาพชีวิตเด็กสงเคราะห์


อรนุช เลิศไกร ผู้ปกครอง สถานสงเคราะห์เด็กหญิงอุดรธานี กล่าวว่า ตอนนี้ในสถานสงเคราะห์มีเด็กประมาณ 260 คน ซึ่งสถานสงเคราะห์จะดูแลเด็กหญิงตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 18 ปีบริบูรณ์ โดยที่ผ่านมาจะประสบปัญหาในการดูแลเด็กเนื่องจากบุคลากรตอนนี้ที่ดูแลเด็กมีจำนวนจำกัด อัตราบุคลากรที่ได้รับก็ไม่เพียงพอ อีกทั้งขณะนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทกับเด็กมากขึ้น ทำให้การดูแลเด็กเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะพวกเขายังขาดทักษะการใช้ชีวิต


ดังนั้น โครงการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเติมเต็มในด้านบุคลากรและทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้แก่เด็ก เพราะบางครั้งผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้เข้ามาช่วยสอน ช่วยฝึกปฏิบัติผ่านการเรียนรู้อย่างมีระบบและสนุกสนานจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข และสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปประกอบอาชีพ รวมถึงการเพิ่มทักษะชีวิตจะช่วยให้ออกไปสู่สังคมได้

Shares:
QR Code :
QR Code