เตรียมพร้อม เมื่อภัยมา

เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก โครงการสัมมนา เรื่อง “ข้อจำกัดของการจัดการภัยพิบัติในสังคมไทย”


ภาพโดย Team Content www.thaihealth.or.th  และแฟ้มภาพ


เตรียมพร้อม เมื่อภัยมา thaihealth


ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นภัยคุกคามและเป็นความเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขของผู้คนในสังคมมากขึ้น จากหลายเหตุการณ์ของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้เห็นว่า การป้องกันภัยพิบัติที่ผ่านมานั้น ยังไม่สารมารถลดทอนความเสียหายให้น้อยลงได้มากนัก


ไม่เพียงแต่ปัญหาจากปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่ เท่านั้น สสส. ยังให้ความสำคัญกับปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั่วทุกภูมิภาค โดยมีโจทย์สำคัญว่า จะทำอย่างไร เพื่อให้แต่ละพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติมีความพร้อมทั้งด้านการจัดการ และรู้เท่าทันภัยที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการฟื้นฟู เยียวยา หลังจากที่ภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว ด้วยโจทย์สำคัญนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดเวทีสัมมนา เรื่อง “ข้อจำกัดของการจัดการภัยพิบัติในสังคมไทย” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนา ปรับปรุงแผนการจัดการ ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และให้เท่าทันสถานการณ์ของภัยพิบัติในปัจจุบัน


สิ่งสำคัญในการจัดสัมมนาในครั้งนี้นั้น ไม่เพียงแค่การแลกเปลี่ยนวิธีการจัดการกับภัยพิบัติในแต่ละพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ชุมชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน แก้ไขและพัฒนาสาระสำคัญของ พรบ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ให้ครอบคุลมมากขึ้นอีกด้วย


เตรียมพร้อม เมื่อภัยมา thaihealth


นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช ผู้อำนวยการกองนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงแนวทางการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยให้กับประชาชน ว่า แนวทางการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยสำหรับประชาชนนั้น แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระยะป้องกัน และ ระยะที่ 2 ระยะฟื้นฟู โดยมีความสำคัญ ดังนี้


ระยะที่ 1 ระยะป้องกัน


1.ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนสร้างแนวปฏิบัติลดความเสี่ยงร่วมกัน


2.พัฒนาประสิทธิภาพของมาตรการในด้านการอพยพ เช่น การจัดตั้งศูนย์อพยพเพิ่มมากขึ้น


3.พัฒนาระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉินสำหรับเมืองที่มีขนาดเล็ก ๆ ลดการกระจุกตัวอยู่แค่เฉพาะเมืองใหญ่


4.เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยขึ้น ควรมีระบบการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัยอย่างทันท่วงที 


ระยะที่ 2 คือ ในระยะฟื้นฟู ควรจัดให้มีการฟื้นฟูทางสังคม ความเป็นอยู่ทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ การดูแลสถาบันความมั่นคงของครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนควรมีแผนฟื้นฟูและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วน และการบูรณาการกันจากทุกหน่วยงาน


เตรียมพร้อม เมื่อภัยมา thaihealth


นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศ เราใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหา เยียวยา เป็นจำนวนมาก เปรียบเสมือนการส่งเสริมให้ประชาชนนั่งรอการช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว จึงเกิดคำถามว่า ทำไมเราถึงต้องรอให้คนในประเทศนี้ร้องขอการช่วยเหลือจากรัฐ และทำอย่างไรที่จะให้ชุมชนมีความพร้อมกับการรับมือภัยพิบัติในทุกรูปแบบที่อาจเกิดขึ้น


“การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในชุมชน เป็นหัวใจสำคัญของการจัดการภัยพิบัติในสังคมไทย หัวใจสำคัญที่เราต้องส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน มีความความรู้ มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น หากเราร่วมกันส่งเสริมให้ประชาชนมีความพร้อมในการับมือภัยพิบัติก็จะช่วยลดงบประมาณในการจัดการได้ส่วนหนึ่งเลย และอีกโจทย์สำคัญ คือ มาตรฐานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแต่ละพื้นที่ในประเทศต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันและมีการจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น”


เตรียมพร้อม เมื่อภัยมา thaihealth


นอกจากนี้ นายไมตรี ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของ พรบ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 นั้น มูลนิธิชุมชนไทย ร่วมกับ สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการผลักดันให้เกิดการแก้ไข พัฒนาสาระสำคัญให้มีความครอบคลุมการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศมากขึ้น


ภัยพิบัติจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะของประชาชนโดยตรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ สสส. และมูลนิธิชุมชนไท ร่วมกันผลักดันและส่งเสริมให้ชุมชนเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น และมีความเชื่อมั่นว่าหากประชาชน ชุมชน มีองค์ความรู้ และมีความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติได้ จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้น

Shares:
QR Code :
QR Code