เตรียมพร้อมรับมือ “ภัย” ที่มากับเปิดเทอม

ชี้ พ่อแม่-ครู-อาจารย์ หัวใจหลักป้องภัยเด็ก

 

เตรียมพร้อมรับมือ “ภัย” ที่มากับเปิดเทอม            ปลายฝนต้นหนาว ช่วงผลัดเปลี่ยนฤดูบ้างฝนก็ตกหนัก บ้างก็ลมพัดเย็น ทำให้หลายๆ คนเริ่มมีอาการเจ็บป่วยเพราะรับสภาพอากาศแปรปรวนไม่ไหว โดยเฉพาะ  เด็กวัยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ ง่ายกว่าคนในวัยอื่นๆ ไข้หวัดใหญ่ จึงเป็นโรคหนึ่งที่เด็กเหล่านี้มีโอกาสเป็นสูง รวมถึงการติดเชื้อไวรัสและโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่หากเป็นแล้วอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ที่น่าห่วงคือเด็กในช่วงอายุ 5-9 ปี ช่วงวัยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด และบ่อยครั้งที่สาเหตุการเจ็บป่วยส่วนใหญ่เกิดจากการมองข้ามความอันตรายของไข้หวัดใหญ่ของผู้ปกครอง และยิ่งในช่วงเปิดเทอมแบบนี้ เด็กๆ ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสจากเพื่อนในห้องเรียนที่มีอาการป่วยอยู่แล้วได้ง่าย

 

            ไข้หวัดใหญ่ เป็นได้อย่างไร?????

 

            อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ว่า ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า อินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza virus) เชื้อนี้จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอหรือจาม หรือหายใจรดกัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยได้เกือบทั้งปี แต่จะเป็นมากในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนกรกฏาคมถึงธันวาคม…ที่น่าเป็นห่วงคือ พบในเด็กมากเป็นพิเศษ ดังนั้น หน้าที่ในการดูแลใส่ใจเด็กๆ จะเป็นของผู้ปกครองแล้ว คุณครูเองก็ควรมีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก ๆ ในยามที่อยู่โรงเรียนอีกด้วย

 

            เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาเตือนว่า สถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น รถโดยสาร โรงภาพยนตร์ โรงเรียน หรือศูนย์การค้า ถือว่าเป็นแหล่งกระจายไวรัสชั้นดี เพราะสามารถติดต่อจากการไอ จาม รดกัน เชื้อจะอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และมักจะมีอาการรุนแรง การรักษาผู้ป่วย ทำได้ง่าย ๆ คือนอนพักมากๆ ดื่มน้ำบ่อยๆ เวลาไอ จาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษเช็ดหน้าปิดปากและจมูก เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย โรคนี้อาการจะหายได้เองภายใน 3-7 วัน แต่หากไอมากขึ้น หรือมีไข้สูงนานเกิน 5 วัน ควรพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน

 

            ส่วนวิธีป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การฉีดวัคซีนซึ่งจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ โดยวัคซีนสามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้ว ยังจะช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในเด็กเล็กอีกด้วย การฉีดวัคซีนแนะนำให้ฉีดทุกปี และควรฉีดในช่วงก่อนเข้าฤดูฝน ซึ่งพบว่ามีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่มาก ภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นภายหลังได้รับวัคซีนประมาณ 14 วัน สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้จากสถานพยาบาล และโรงพยาบาลทั่วไป

 

            แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นวิธีการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุด คือ การหยุดแพร่กระจายเชื้อ หากเด็กนักเรียนป่วยเป็นไข้หวัด ผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนให้เด็กใช้หน้ากากอนามัยเวลาไอหรือจาม ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษเช็ดหน้าปิดปากและจมูก ล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้แก้วน้ำร่วมกัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

 

            นอกจากจะดูแลเรื่องการเจ็บป่วยแล้ว การดูแลสุขภาพด้านอาหารการกินก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังไม่แพ้กัน โดยเฉพาะน้ำดื่ม เพราะร่างกายเราต้องการน้ำถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของร่างกาย อีกทั้ง น้ำดื่มที่สะอาด ย่อมหมายถึงสุขอนามัยที่ดีของผู้ดื่มอีกด้วย

 

            น่าตกใจ!! เมื่อไม่นานมานี้มีการพบสารตะกั่วในตู้น้ำดื่มของโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีสารตะกั่วปะปนอยู่เกินมาตรฐานที่กำหนด ด้วยความทันสมัยของสังคมไทยยุคใหม่โรงเรียนยุคนี้ แทบจะทุกโรงเรียนล้วนแต่มีตู้แช่น้ำเย็นให้เด็กดื่ม แต่ส่วนประกอบของตู้แช่น้ำสเตนเลส ถูกเชื่อมด้วยตะกั่ว!!!

 

            ป้องกันตัวให้ปลอดภัยจากสารตะกั่วตู้แช่น้ำเย็นในโรงเรียนได้อย่างไร??

 เตรียมพร้อมรับมือ “ภัย” ที่มากับเปิดเทอม เตรียมพร้อมรับมือ “ภัย” ที่มากับเปิดเทอม

            เมื่อน้ำประปาดีๆ ถูกเก็บกักในถังสารตะกั่วจะค่อยๆ ละลายผสมในน้ำดื่ม ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มของไทย คือ น้ำ 1 ลิตร มีสารตะกั่วปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัม แต่หลังจากการประปาส่วนภูมิภาค ตรวจพบจากตู้แช่น้ำดื่มในโรงเรียนในหลายๆ ที่ กลับมีค่าเกินมาตรฐานสูงถึง 2 5 เท่า ซึ่งเป็นปริมาณที่มีอันตรายต่อเด็กมาก หากกินเข้าไป จะฝังตัวและสะสมที่สมอง เพื่อทำลายสมอง ยิ่งดื่มเข้าไปยิ่งทำให้สมองไม่พัฒนา และเข้าไปสะสมบริเวณไขกระดูก ทำให้การเจริญเติบโตของเด็กลดลงที่ร้ายไปกว่านั้น!!! สารตะกั่วฝังตัวสะสมไปแล้วจะอยู่คู่กับคนคนนั้นไปตลอด โอกาสที่ร่างกายจะขับออกมาได้นั้นน้อยมากหรือแทบไม่ได้เลย ทำได้เพียงระมัดระวังและดูแลตัวเองเท่านั้น

 

            นอกจากอันตรายที่มากับตู้กดน้ำในโรงเรียนแล้ว สิ่งที่ผู้ปกครองควรระวังนั่นคือ ขนมกรุบกรอบ ที่พ่อแม่บางคนใช้เพื่อล่อใจลูกให้ไปเรียนหนังสือ ให้ทำการบ้าน ทำให้เด็กบางคนมีขนมขบเคี้ยวติดกระเป๋ามาโรงเรียนทุกวัน ส่งผลให้เกิดปัญหาโรคอ้วนจำนวนมาก

 

            กระทั่งซีเรียล ธัญพืช ที่พ่อแม่นิยมให้ลูกทานก่อนไปโรงเรียน ในตอนเช้า ก็มีผลวิจัยออกมาว่าอาหารเช้าจำพวกซีเรียล มีปริมาณน้ำตาลและโซเดียมสูงเกินไป แต่ผู้ปกครองและผู้บริโภคทั้งหลายกลับเข้าใจว่าอาหารเช้าเหล่านั้นมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก

 

            หากเด็กนำมากินเล่นเป็นขนมกรุบกรอบ ก็จะทำให้ได้ปริมาณเกลือ ไขมัน และน้ำตาลที่มากเกินไป ซึ่งปริมาณเกลือในแต่ละวันไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัม โดยในซีเรียลพบมีเพียงกว่า 60 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมเท่านั้น แต่หากกินทั้งกล่องเป็นขนมขบเคี้ยว ก็ไม่มีใครรับประกันว่าเด็กจะได้โซเดียมมากแค่ไหน เพราะปกติในอาหารจืดเมื่อรวมปริมาณการกินตลอดทั้งวันก็เกินที่กำหนดแล้ว

 

            แต่….ปัญหาสำคัญ คือ เด็กส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักวิธีในการป้องกันตัวเองจากอันตรายต่าง ๆ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองและทางโรงเรียนที่ต้องรับบทหนักในการดูแลเด็ก ๆ มากเป็นพิเศษ ในช่วงหน้าฝน….

 

            ว่าก็ว่าเถอะ!!…ไม่เพียงแต่การดูแลเรื่องการเจ็บป่วยของเด็ก ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดูแลอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ภายในโรงเรียนที่เด็กต้องสัมผัสและใช้เป็นประจำ เช่น สนามเด็กเล่น เพราะการเปิดเทอมถือเป็นเวลาแห่งความสุข สนุกสนานที่จะทำให้เด็กได้เดินเข้าสู่อ้อมกอดของโลกแห่งการเรียนรู้….มิใช่เดินเข้าสู่อ้อมกอดของมัจจุราชที่สิงสถิตย์อยู่ตามอุปกรณ์ที่ไม่ปลอดภัยใน สนามเด็กเล่น

 

            เพราะอุบัติเหตุมักเกิดขึ้นได้บ่อยๆ โดยไม่เลือกสถานที่และเวลา และเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองและโรงเรียนควรใส่ใจ และป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น ด้วยการดูแลเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิด…ทางที่ดีผู้ใหญ่ควรใส่ใจสิ่งรอบตัวเด็กที่อาจทำให้เกิดอันตรายเพราะชีวิตหากเสียไปแล้วเรียกร้องกลับคืนไม่ได้!!

 

            หากคุณพ่อ คุณแม่ท่านใด สนใจหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและการป้องกันการบาดเจ็บของเด็ก ๆ  สามารถหาข้อมูลได้จากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาคีเครือข่ายด้านการดูแลเด็กและเยาวชนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ที่เว็บไซต์ www.csip.org และที่ www.thaihealth.or.th

 

          ……เพราะสุขภาพที่ดี สร้างได้ด้วยมือคุณ…..

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th

 

 

Update : 04-10-51

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code