เตรียมประชุมวิชาการเพศวิถีศึกษา ครั้งที่ 4 “สาธารณะ รัฐ เซ็กส์”
สมาคมเพศวิถีศึกษาแถลงข่าว “งานประชุมวิชาการเพศวิถีศึกษาครั้งที่ 4” นายกสมาคมชี้การห้ามพูดคุยเรื่องเพศในที่สาธารณะ ทำให้คนเกลียดกลัวเรื่องเพศ มองเป็นเรื่องบัดสี สกปรก และใช้เป็นอาวุธโจมตีฝ่ายตรงข้าม
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา สมาคมเพศวิถีศึกษา ได้จัดเวทีแถลงข่าวงานประชุมวิชาการเพศวิถีศึกษาครั้งที่ 4 ณ ห้องประชุม 103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 30 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวถึงที่มาของการจัดงานประชุมว่าสังคมไทยมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนการสื่อสารเรื่องเพศ หรือเซ็กส์ โดยเฉพาะการสื่อสารในที่ “สาธารณะ”
ผศ.ดร.สุชาดากล่าวว่า การทำให้การพูดคุยเรื่องเพศในที่สาธารณะเป็นเรื่องต้องห้าม ทำให้เกิดอาการ 2 อย่างขึ้นในสังคมไทย คือ การเกลียดกลัวเรื่องเพศ และการมองเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าบัดสี หรือสกปรก ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เปิดช่องให้คนนำเรื่อง “เพศ” ไปผูกโยงกับเรื่องศีลธรรมจริยธรรม นำเรื่องเพศมาเป็นตัวชูโรง หรือเป็นสัญลักษณ์ในการด่า ประจาน หรือสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงดังที่เห็น ในแวดวงการเมืองบ้านเรา
“เราพบว่า รัฐไทยมองเรื่องเพศและเพศวิถีในสังคมไทยที่กำลังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในปัจจุบัน ไปในทำนองว่าเป็นปัญหาสังคมและเป็นความเสื่อมโทรมด้านศีลธรรม โดยเฉพาะในกรณีเรื่องเพศของเยาวชน และในกลุ่มเพศทางเลือก ทำให้การเปิดพื้นที่ให้กับเรื่องเพศ “นอกขนบ” มีน้อยหรือแทบไม่มีเลย อีกทั้งไม่ประกันสิทธิพื้นฐานให้กับเพศทางเลือก
การประชุมวิชาการเรื่องเพศวิถีศึกษา ครั้งที่ 4 นี้จึงเลือกนำเสนอในประเด็น “สาธารณะ รัฐ เซ็กส์ (public, states, sexuality)” เพื่อชี้ให้สังคมไทยต้องรู้จักวิพากษ์ท่าทีของรัฐไทยและของ “สาธารณะ” ในเรื่องเพศวิถี เพศภาวะ กามารมณ์ และสุขภาวะทางเพศในสังคมไทยใน 5 หัวข้อ คือ 1. เควียร์ เพศหลากหลาย และสตรีนิยม เป็นญาติกันหรือไม่? (are queer, sexual diversity and feminism related?) 2. รัฐไทยกับการปกป้องคุ้มครองเพศวิถี (thai state and the protection of sexuality) การวิพากษ์นโยบาย เรื่องเพศในสื่อสมัยใหม่ (sexuality in new and social media) 3. เพศวิถี ข้ามรัฐ ลอดพรมแดน (sexuality beyond state boundaries) 4. ธุรกิจทางเพศบนโลกออนไลน์ (sexuality beyond state boundaries) และ 5. พื้นที่สาธารณะกับความเกลียดกลัวเรื่องเพศ (public space, hatred, and fear of sexuality)
สำหรับผลที่ได้จากการจัดเวทีประชุมนั้น รศ.ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะผู้จัดกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากการจัดงานประชุมวิชาการเพศวิถีที่ผ่านมาว่า “การประชุมนี้ทำให้หลายเรื่องที่ไม่เคยถูกพูดถึงเลย มีการพูดถึงมากขึ้นอย่างที่ไม่ถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเพศนอกขนบต่างๆ เช่น คนรักเพศเดียวกันจะมีการแต่งงานกันได้อย่างไร ซึ่งเราเชื่อว่า มันมาจากการสะสมภูมิความรู้ และการเปิดประเด็นจากเวทีวิชาการนี้ก็มีส่วนแน่นอน”
ด้าน รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยเรื่องเพศชื่อดังกล่าวถึงงานประชุมว่า “งานวิชาการเหล่านี้สามารถต่อยอดเป็นนโยบายต่างๆ ได้ และสำหรับประชาชนวงกว้าง ประเด็นหรือตัวอย่างที่ถูกนำเสนอในเวทีการประชุมต่างๆ จะทำให้คนทั่วไปได้ตั้งคำถาม และคิดต่อ จึงคิดว่า เวทีที่มีความหลากหลายทั้งการนำเสนองานวิชาการ และการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนที่มีประเด็นเฉพาะได้นำเสนอแลกเปลี่ยนชุดประสบการณ์นั้น มีผลในวงกว้างได้อย่างน่าสนใจมาก”
น.ส.อัญชนา สุวรรณานนท์ นักพัฒนาสังคม ด้านสิทธิทางเพศ กล่าวว่า การประชุมวิชาการที่ผ่านมานั้นมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้คนทำงานวิชาการ นักวิจัย คนทำงานประเด็นทางสังคมและสิทธิมองเห็นถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนทั้งสังคมต่อประเด็นสุขภาวะทางเพศ สามารถเชื่อมโยงการวิเคราะห์สังคม ด้วยกลไกการวิจัย การคิดวิเคราะห์ และกระบวนการทางสังคมเพื่อการศึกษา รวมทั้งการตระหนักถึงพลังการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม
“งานประชุมทำให้หลายๆ คนสั่งสมความรู้และมีความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น การที่คนทำงานในพื้นที่มีโอกาสได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกับคนที่ทำงานประเด็นเดียวกัน นักวิจัย นักวิชาการ หรือคนทำงานประเด็นอื่น ๆ จะทำให้เขามองเห็นสิ่งที่ทำอยู่แล้วได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คนทำงานประเด็นอื่นๆ ก็ได้คิดงานข้ามประเด็นการทำงาน และเปิดโอกาสการทำงานร่วมกันได้มากขึ้น”
การประชุมวิชาการเพศวิถีศึกษา ครั้งที่ 4 ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 22-23 สิงหาคม 2556 ณ โรงแรมเดอะรอยัลริเวอร์ ห้องภาณุรังษี ถนนจรัญสนิทวงศ์ จัดขึ้นโดย สมาคมเพศวิถีศึกษา และองค์กรเครือข่าย 21 องค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนองานวิชาการเรื่องเพศวิถี และส่งเสริมสุขภาวะทางเพศในสังคมไทย โดยผู้เข้าร่วมจะมีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา นักปฏิบัติหรือนักพัฒนา สื่อมวลชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจประเด็นเพศวิถีศึกษา การประชุมยังเปิดรับสมัครบทความในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง คือ สาธารณะ รัฐ เซ็กส์
สำหรับผู้ที่สนใจส่งบทความเพื่อนำเสนอในการประชุมวิชาการนี้สามารถส่งบทความได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2556 ดูรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.ssa.ipsr.mahidol.ac.th
ที่มา : แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ (สสส.)