เตรียมตั้งกก.แก้ปัญหาอาหารกลางวันยั่งยืน
ที่มา : คมชัดลึก
แฟ้มภาพ
เตรียมตั้ง กก.แก้ปัญหาทุจริตอาหารกลางวันเด็กใน 7 วัน เสนอมีนักโภชนาการท้องถิ่น-เรียกร้องทุกโรงเรียนเข้าโปรแกรม Thai School Lunch สร้างเมนูแบบ 4.0 ตามนโยบาย คสช.
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง การบริหารจัดการอาหารกลางวันนักเรียนให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ โดยมี ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตัวแทนโรงเรียนสังกัด อปท. 400 โรงเรียนเข้าร่วม
โดย "นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ" อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า งบประมาณอาหารกลางวัน ปีละมากกว่า 22,000 ล้านบาท หัวละ 20 บาท ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสม งบประมาณไม่ได้มากหรือน้อยเกินไป แต่การที่บางโรงเรียนนำงบประมาณไปใช้แบบมีปัญหา แม้จะมีตัวอย่างดีๆ ในการจัดการอาหารกลางวันด้วยงบประมาณจำนวนดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เช่น โรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา สมุทรปราการ เป็นต้น
"เป็นเรื่องน่าเศร้าว่าผลการศึกษาเป็นอันดับ 8 ของอาเซียน ชนะแค่พม่ากับลาว เกิดจากเด็กเล็กกินอาหารไม่ดี เซลล์สมองไม่เติบโต โดยทางการแพทย์ระบุเด็กอายุ 0-12 ปี อาหารที่ดีมีความสำคัญจะได้มีร่างกายแข็งแรงก็ขึ้น"
อธ.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยังเห็นว่า การแก้ปัญหาการจัดการอาหารกลางวันจะให้ทุกโรงเรียนได้ใช้ Thai School Lunch และขยายผลในอนาคต โดยโปรแกรม Thai school lunch นี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ถือว่าเป็นโปรแกรมที่จัดเมนูอาหารแบบ 4.0 ตามนโยบาย คสช. แบบใช้ได้ 2 ทาง คือเข้าไปเลือกหาเมนูอาหารในโปรแกรมและสร้างเมนูเพิ่มได้เอง นอกจากนี้จะผลักดันให้มีนักโภชนาการท้องถิ่น ให้ทุก อปท.ไปดำเนินการ เพื่อให้เด็กและคนในชมชุนได้มีอาหารที่มีคุณค่า มีสารอาหารและมีความปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังเตรียมแนวทางการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนคุณภาพอาหารกลางวันเพื่อโภชนาการของเด็กนักเรียน เพื่อติดตามการดำเนินการของทุกโรงเรียนไปใช้ระบบ Thai School Lunch จะวัดได้ว่ารายการอาหารมีสารอาหารครบมีปริมาณและจำนวนที่เป็นรูปธรรม โดยคณะทำงานติดตามก็จะเข้าไปเยี่ยมเด็กนักเรียน มีนายอำเภอ , ผู้ว่าราชการจังหวัด และการมีส่วนร่วมชุมชน , ผู้ปกครอง , กรรมการศึกษา เพื่อจะช่วยให้เกิดสิ่งที่ดีงามกับเด็กได้มากกว่าที่ผ่านมา โดยจะจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนให้แล้วเสร็จใน 7 วัน
ขณะที่ "นายสง่า ดามาพงษ์" นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า สำนักโภชนาการ กรมอนามัยค้นพบมานานแล้วว่าการเติบโตของเด็กไทยมีทุพโภชนาการขาดสารอาหาร เตี้ย แกร็น ผอม สติปัญญา ไม่เติบโต ผอม เตี้ยอ้วน ไอคิวต่ำ ที่เกิดจากอาหารและโภชนาการบกพร่อง เพราะสังคมคิดแค่อิ่มท้องไมได้อิ่มสารอาหาร ซึ่งที่ผ่านมา สสส. และกรมอนามัยขับเคลื่อนการดูแลโภชนาการเด็กมา 10 ปี มีบทเรียนจากโครงการโภชนาการเชิงรุก โภชนาการสมวัย เด็กไทยแก้มใส แต่ที่ต้องเดินไปข้างหน้าคือการทำงานต่อยอดให้เกิดการแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการอย่างแท้จริง
"บทเรียนขนมจีนน้ำปลา ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงใน 3 ระดับ คือนักโภชนาการท้องถิ่น ต้องดูแลแทนครูและแม่ครัว ต้องสอนให้คนในท้องถิ่นมีทักษะการจัดอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ สอนเด็กให้กินผัก มีพฤติกรรมด้านโภชนาการที่เหมาะสมถึงเวลาที่จะต้องนำ Thai School Lunch มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะโปรแกรมนี้ จะป้อนข้อมูลและบอกเมนูอาหาร วัตถุดิบและราคามาปรับปรุงให้เด็กรับประทานอาหาร กินอาหารครบถ้วนและเพียงพอ"
นายสง่า ระบุอีกว่า สสส. และภาคีเครือข่ายจะนำมาช่วยกันผลักดันให้เกิดผลกับเด็ก โดยเฉพาะบทบาทของกรมอนามัยส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี 1.ต้องสนับสนุนระบบ Thai School Lunch ให้เกิดกับโรงเรียนในสังกัดทั้งระบบ 2.ร่วมเป็นแกนนำเครือข่ายชุมชนกำหนดทีโออาร์ในการจัดซื้ออาหารกลางวัน 3.การเฝ้าระวังและติดตามภาวะโภชนาการ โดยให้วางแผนพัฒนาในระดับตำบลกำหนดคณะกรรมการขับเคลื่อนในเรื่องนี้เอาไว้อย่างชัดเจน 4.พัฒนาครูและแม่ครัวที่เกี่ยวข้อง ไม่ยอมให้แม่ค้ามากุมชะตาชีวิตเด็ก 5.เร่งรัดให้มีนักโภชนาการเกิดขึ้น อย่างน้อย อำเภอละ 1 คน 6.เปิดโอกาสให้ครอบครัวชุมชนมามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ
ด้าน "ดร.อุไรพร จิตต์แจ้ง" นักวิชาการด้านโภชนาการชุมชน สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการอบรมครูเรื่องโปรแกรม Thai School Lunch 4-5 ปี พบว่า ประเด็นการประมูลจัดจ้าง ตาม Thai School Lunch ที่โรงเรียนต้องจัดอาหารล่วงหน้า มากำหนดเป็นเงื่อนไขในทีโออาร์ให้กับผู้เข้าประมูล ไม่ต้องใช้สเปคจากประมูลราคาตามระเบียบปฏิบัติเรื่อง E-bidding คนประมูลถูกสุดได้งาน แต่เด็กกลับได้อาหารไม่มีคุณภาพ
ส่วน "ดร.สุปียา เจริญศิริวัฒน์" นักวิจัยศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่าอยู่ระหว่าง การพัฒนาโปรแกรม Thai School Lunch ให้ใช้ง่ายและสามารถออนไลน์เข้าไปในทุกเครื่อง ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และเชื่อว่าในสัปดาห์หน้าโรงเรียนกว่า 19,000 แห่งจะได้ใช้ระบบนี้ และจะปรับระบบให้หน่วยงานในสังกัดสามารถติดตามการจัดการอาหารของโรงเรียนตามโปรแกรมได้ โดยคาดว่าหากพัฒนาโปรแกรม Thai School Lunch ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น เอาเทคโนโลยี AI มาแทนนักโภชนาการ จัดเมนูอาหารได้ไม่ซ้ำกันจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้