เตรียมความพร้อมเด็ก รับเปิดเทอม
ที่มา : MGR Online
แฟ้มภาพ
สธ.แนะเคล็ดลับแก่ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง เตรียมเด็กให้มีความพร้อมทั้งกายและจิต รับเปิดเทอม พบเด็กเป็นโรคกลัวโรงเรียน 3% วอน ร.ร.ทำความสะอาดป้องกัน "ไข้เลือดออก-มือเท้าปาก-อาหารเป็นพิษ"
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “สธ.แนะเคล็ดลับเตรียมลูกพร้อมรับเปิดเทอม” ว่า ขณะนี้เริ่มมีการเปิดโรงเรียนกันแล้ว จึงอยากขอให้โรงเรียน รวมถึงศูนย์เด็กเล็กทุกแห่ง เตรียมความพร้อมเรื่องความสะอาดของสถานที่ และสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันโรคระบาดในเด็ก โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก โรคมือ เท้า ปาก และโรคอาหารเป็นพิษ นอกจากนี้ ต้องมีการส่งเสริมให้เด็กได้ออกกำลังกาย รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารมื้อเช้าซึ่งจะช่วยเรื่องพัฒนาการทางสมอง มีผลในการควบคุมน้ำหนัก ดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว พักผ่อนให้เพียงพอ 8-10 ชั่วโมง โดยจัดหลักสูตรในช่วงเพิ่มเวลารู้ให้นักเรียนมีความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว
นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงเปิดเทอมเป็นช่วงฤดูฝนทำให้เชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสอยู่ในธรรมชาติได้นานขึ้น เช่น โรคไข้เลือดออก ซึ่งในปี 2558 มีผู้ป่วย 1.4 แสนคน เป็นเด็ก 30% ส่วนปีนี้มีมาตรการควบคุมป้องกันโรคดีขึ้น โดยพบว่าโรงเรียนสามารถลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ 30% แต่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง ส่วนโรคมือ เท้า ปาก ปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 10,000 คน เสียชีวิต 1 คน จึงขอให้โรงเรียนเน้นเรื่องการทำความสะอาดสถานที่ ข้าวของเครื่องใช้ และครูต้องคัดกรองเด็ก หากพบว่ามีตุ่มขึ้นที่มือ ให้ประสานผู้ปกครองพาเด็กกลับบ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในโรงเรียน สำหรับโรคอาหารเป็นพิษ ปัจจัยเสี่ยงมาจากนม อาหารที่มีผู้มาบริจาค และพืชพิษ ขอให้ครูหมั่นตรวจคุณภาพของนม ผู้ที่บริจาคอาหารก็ควรเป็นอาหารปรุงเสร็จใหม่ๆ ไม่ควรปรุงอาหารค้างคืน ส่วนพืชพิษ นั้นขอให้มีการติดป้ายเตือน หรือล้อมรั้วกั้นไว้
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตามปกติแล้วเด็กชอบไปโรงเรียนเพราะสนุกและได้เข้าสังคม แต่ช่วงเปิดเทอมแรกๆ พบว่าเด็กจะเป็นโรคกลัวโรงเรียน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลัวการแยกจากผู้ปกครอง ทำให้เกิดความเครียดสูง อาจแสดงอาการมีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ซึ่งไม่ใช่การแกล้งทำ ผู้ปกครองต้องใจแข็งพาลูกไปโรงเรียน อย่าลังเล หรือให้เด็กหยุดเรียน เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่จะทำให้อนาคตเด็กขาดเรียน หรือโดดเรียนบ่อย และเมื่อมาถึงโรงเรียนแล้วหากเด็กร้องไห้งอแง ก็ต้องใจแข็งส่งต่อให้ครูและรีบออกมา หรือหากจัดการไม่ได้อาจจะต้องพบจิตแพทย์ ที่สำคัญไม่ควรไปเพิ่มความกังวลให้เด็ก เช่น ตอกย้ำว่าพรุ่งนี้จะต้องไปโรงเรียนแล้วเพราะจะทำให้เด็กเครียด นอนไม่หลับได้ และ 2.การแกล้งกันในโรงเรียน ทั้งคำพูดและการกระทำ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้กลั่นแกล้ง หรือถูกแกล้งต้องได้รับการบำบัด เพราะคนที่แกล้งคนอื่นมักพบว่ามีปัญหาครอบครัว สำหรับการแก้ปัญหาคือเพิ่มการทำกิจกรรมเพื่อฝึกทักษะการอยู่ร่วมในสังคม ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต
“โรคกลัวโรงเรียนมักเป็นในเด็กแรกเข้า หรือช่วงเด็กเปิดเทอม พบได้ประมาณ 2-3% แต่ถ้าถึงขั้นป่วยเลยพบ 1% ซึ่งจะเป็นอยู่ประมาณ 1 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องแก้ให้ได้ พ่อแม่ ไม่ควรโอ๋ลูกแล้วให้หยุดเรียน 2-3 วันแล้วให้กลับมาเรียนใหม่ และไม่ควรหลอกว่าจะพาไปที่เที่ยว หรือไปที่นั่นที่นี่ ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหา สุดท้ายเด็กก็ยังมีความกังวล หรือตอนที่ไปส่งลูกที่หน้าโรงเรียนก็ไม่ต้องพิรี้พิไร การกอด หอม ยิ่งทำให้เด็กไม่อยากแยกจาก ไม่ต้องไปอุ้ม เพราะจะทำให้เด็กเกาะแน่นเป็นลูกลิง พอส่งถึงมือครูแล้วให้ตัดใจหันหลังเดินออกมาทันที” นพ.ยงยุทธ กล่าว