เตรียมความพร้อมสู่งดเหล้าเข้าพรรษา

เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจากกิจกรรมเสวนา เช็คอินเข้าพรรษา ขอเป็นสื่อรักให้พักเหล้า LIVE EP.1 ตอน การเตรียมเข้าสู่งดเหล้าเข้าพรรษา และ คู่มือชุมชนเลิกเหล้า เพื่อการรณรงค์เลิกเหล้าเข้าพรรษา


ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และ สสส.


เตรียมความพร้อมสู่งดเหล้าเข้าพรรษา thaihealth


นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน ก็จะถึงเทศกาลงานบุญที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญของใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่ตั้งใจจะเลิกยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข นั่นคือ การงดเหล้าเข้าพรรษานั่นเอง


งดเหล้าเข้าพรรษา เป็นกิจกรรมหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนานกว่า 18 ปี โครงการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2546 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายมากมายที่ร่วมกันรณรงค์ เพื่อให้สังคมไทยปลอดเหล้า


แน่นอนว่าก่อนถึงวันเข้าพรรษา ภาคีเครือข่ายเริ่มเตรียมความพร้อม วางแผน เพื่อให้ช่วงงดเหล้าเข้าพรรษา เป็นเวลาที่หลายคนได้เริ่มต้นสิ่งดีๆ นายจีรวัฒน์  แสงจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดตราด เล่าว่า เดิมทำงานรณรงค์งดเหล้าใน 7 พื้นที่ ครอบคลุม 4 อำเภอในจังหวัดตราด  แต่ตอนนี้เพิ่มมาเป็น 30 ชุมชน จากความร่วมมือของภาคีเครือข่าย โดยในปี้นี้อยากทำโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด และครอบคลุมถึงชุมชนให้มากที่สุด  โดยได้ร่วมมือกับสถานีตำรวจในการค้นหาผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หนักๆ และมีความเสี่ยงสูงที่จะดื่มแล้วขับ ให้มาร่วมงดเหล้าเข้าพรรษาไปด้วยกัน เพราะหากควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ได้ อุบัติเหตุในจังหวัดตราดจะลดลงด้วย


ด้านจังหวัดมหาสารคาม นายบุญชอบ  สิงห์คำ  ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดมหาสารคาม เล่าถึงการเตรียมการรณรงค์ในพื้นที่ว่า จังหวัดมหาสารคามรณรงค์เรื่องงดเหล้ามาตลอด ซึ่งทั้งจังหวัดก็รณรงค์เป็นปกติอยู่แล้ว แต่จะเน้นไปที่ชุมชนคนสู้เหล้าซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบ เมื่อปีที่ผ่านมา มีภาคีเครือข่ายมากมายที่เข้าร่วมโครงการ เช่น วัฒนธรรมจังหวัด ท้องถิ่น รพ.สต.ในพื้นที่ ทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน สิ่งที่ทำ คือ เครือข่ายเข้าไปสนับสนุนกระบวนการที่คุยกับชุมชน  และเลือกสื่อที่จะต้องใช้ ไปเติมเต็มส่วนราชการ เช่น รพ.สต. สาธารณสุขอำเภอ เป็นต้น นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ทำมาโดยตลอด คือ สมุดลงนามงดเหล้าเข้าพรรษา 


“ เราต้องรณรงค์และสร้างพื้นที่ต้นแบบ โดยในปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 42 ชุมชน โดยสำรวจคนดื่มคนสูบ 100% ผ่านแบบคัดกรอง  และให้อาสาสมัครลงพื้นที่ ไปพบปะ เชิญชวน ลงนามงดเหล้าเข้าพรรษา หากพบว่าเป็นผู้เสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพ ก็พาไปหาหมอที่โรงพยาบาล เป้าหมายปีนี้ อยากได้คนที่งดเหล้าครบพรรษาให้มากที่สุด โดยมีการอบรม สคล.ในพื้นที่ ในเรื่องฐานข้อมูลชุมชน  การเฝ้าระวังสังเกตคนติดเหล้า การจัดสภาพแวดล้อมสำหรับคนที่จะเลิกเหล้า สัมมาชีพคนเลิกเหล้า และโควิด-19 “ นายบุญชอบ กล่าว


เตรียมความพร้อมสู่งดเหล้าเข้าพรรษา thaihealth


จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2560  จังหวัดเชียงราย มีจำนวนนักดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับ 1 ของประเทศ นายฤทธิรงค์  หน่อแหวน  ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องกับพื้นที่ โดยใช้กระบวนการในการสร้างเครือข่าย ขยายความร่วมมือ ผ่าน พชอ. ซึ่งเป็นกลไกที่จะตอบโจทย์ ในการสร้างกระบวนการ ชวน ช่วยเลิกเหล้าในพื้นที่และสร้างเครือข่ายของคนหัวใจเพชรได้ รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง


 นอกจากนี้ ยังใช้เครื่องมือออนไลน์ โดยปฎิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษาผ่านคิวอาร์โค้ด กรอกแบบฟอร์มปฏิญาณตนบวชใจ  และคืนข้อมูลให้พื้นที่ เพื่อให้พื้นที่ใช้ประโยชน์จากการสร้างเครือข่าย โดยผ่าน อสม. อีกหนึ่งตัวช่วยที่ดี คือ กระบวนการทางศาสนา โดยนำรายชื่อส่งให้ทางพระสงฆ์ สวดเจริญพระพุทธมนต์ในวันเข้าพรรษา โดยเชิดชูเกียรติคนหัวใจเพชร และ MOU ระหว่างหน่วยงานราชการและพื้นที่ เพื่อให้เกิดความร่วมมือ


“งดเหล้าเข้าพรรษา หยุดเชื้อเพื่อตัวคุณและคนที่คุณรัก คลัสเตอร์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศและจังหวัดเชียงรายตอนนี้ เกิดจากสุรา ดังนั้น จึงพยายามที่จะเชื่อมเรื่องของการตระหนัก และใช้กระบวนการงดเหล้าเข้าพรรษา เป็นตัวช่วยทำให้ลดการระบาดของโควิด-19  และนโยบายของจังหวัด ทุกงานต้องปลอดเหล้า” นายฤทธิรงค์ กล่าว


เตรียมความพร้อมสู่งดเหล้าเข้าพรรษา thaihealth


สำหรับนักรณรงค์ต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินงานเรื่องงดเหล้าเข้าพรรษากันอยู่  มีข้อควรระวังให้กิจกรรมดำเนินไปได้จนประสบความสำเร็จ ดังนี้


1) 4 สัปดาห์แรกต้องเฝ้าระวัง : ในช่วง 4 สัปดาห์แรกของเข้าพรรษา เป็นช่วงที่คนมีโอกาสจะกลับไปดื่มสูงมาก เพราะผู้งดดื่มยังเจอเพื่อนชวนดื่ม ในชุมชนมีงานเลี้ยงที่มีเหล้า ตัวเองยังไม่สามารถจัดการกับความอยากเหล้าได้ และไม่มีกิจกรรมอื่นมาทดแทนช่วงเวลาที่เคยอยู่กับเหล้า รวมถึงขาดคนให้กําลังใจในการทำดี เมื่อรู้สาเหตุดังนี้ นักรณรงค์ต้องช่วยสร้างหรือมีกิจกรรมเน้นในช่วงนี้ เช่น กิจกรรมเยี่ยมบ้าน/ กิจกรรมธรรมเสวนาคนเลิกเหล้า / กิจกรรมสันทนาการสานสามวัยในชุมชนร่วมทุกข์สุข ฯลฯ


2) ประสานกับฝ่ายอนามัยให้พร้อม : นักรณรงค์ต้องเตรียมตัวช่วยเหลือ กรณีที่คนเลิกเหล้ามีอาการอยากเหล้า โดยประสานกับหมออนามัย ในโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ หรือหมอ / พยาบาลจากโรงพยาบาลชุมชน


3) ประสานกับครอบครัว : นักรณรงค์ควรให้ความรู้กับครอบครัวคนเลิกเหล้าด้วยว่าสมาชิกครอบครัวควรปฏิบัติตนอย่างไร ในภาวะที่ผู้งดเหล้ามีอาการอยากเหล้า รวมทั้งวิธีการให้กำลังใจ หรือการหาสิ่งอื่น ๆ ทดแทน


นับว่า สสส.เป็นเพียงตัวช่วยให้พื้นที่มีการขับเคลื่อนโครงการได้ แต่ในส่วนของความยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของคนในพื้นที่ดำเนินการต่อให้สัมฤทธิ์ผล และแน่นอนว่า เข้าพรรษาปีนี้ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีอีกครั้ง ที่จะงดเว้นการดื่มเหล้า สูบบุหรี่  และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ด้วยความตั้งใจ เพื่อสุขภาพ ครอบครัว รวมทั้งลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ด้วย เข้าพรรษาปีนี้ ร่วมกันงดเหล้า ห่างโควิด เพื่อชีวิตปลอดภัย

Shares:
QR Code :
QR Code