เตรียมความพร้อมรับมือ ‘ภัยพิบัติ’ กรณี ‘พายุ’
ที่มา : เฟซบุ๊ก โกเมศร์ ทองบุญชู
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ กรณีพายุ โดยศูนย์ประสานงานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติ จ.นครศรีธรรมราช
เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 จ.ท.โกเมศร์ ทองบุญชู ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาระบบและบูรณาการการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น จ.นครศรีธรรมราช แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีการเกิดพายุปาบึก พายุโซนร้อนลูกแรกในปี 2562 ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทยในคืนวันที่ 4 มกราคม ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “เราไม่สามารถห้ามภัยได้…และไม่สามารถต่อสู้กับมันได้….สิ่งที่ชาวบ้านพวกเราทำได้คือเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยที่จะมาเยือนนะครับ”
โดยฝากคำแนะนำในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในระดับครัวเรือน กรณีพายุปาบึกไว้ 10 ข้อ ดังนี้
1. เตรียมเครื่องมือประเภทเลื่อยยนต์ ขวาน และเชือก เพื่อใช้ในการตัดต้นไม้ที่ล้มปิดถนน
2. เตรียมเรื่องไฟฟ้า แสงสว่าง ได้แก่ ไฟฉาย เทียนไข ไม้ฟืน และเครื่องปั่นไฟ เพื่อแก้ไขกรณีไฟดับ
3. เตรียมพลังงาน เช่น แก๊สหุงต้ม ไม้ฟืน ถ่าน สำหรับการหุงหาอาหาร
4. เตรียมอาหารแห้งในจำนวนที่มากพอ ประมาณ 5-7 วัน กรณีมีเด็กภายในบ้านให้เตรียมความพร้อม ทั้ง นม และผ้าอ้อมสำเร็จรูป และกรณีมีผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ให้เตรียมยาและวัสดุอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ
5. เตรียมความพร้อมด้านระบบสื่อสาร ชาร์จแบตเตอรี่วิทยุสื่อสาร และวิทยุทรานซิสเตอร์ไว้ให้พร้อม
6. ช่วงเกิดพายุเข้า กรณีผู้ที่อาศัยในบ้านสองชั้นให้อพยพมาอยู่ด้านล่าง และกรณีบ้านชั้นเดี่ยวให้ระวังกระเบื้องมุงหลังคา
7. กรณีบ้านเรือนไม่มั่นคง ให้อพยพไปอาศัยบ้านญาติ หรือศูนย์พักพิงที่ทางศูนย์ราชการหรือชุมชนเตรียมไว้
8. สัตว์เลี้ยง และยานพาหนะประเภทรถยนต์ และเครื่องมือทางการเกษตร ให้เคลื่อนย้ายไว้ในที่ปลอดภัย
9. กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บให้แจ้งผู้นำชุมชนและอาสาสมัครในพื้นที่
10. ติดตามข่าวเฝ้าระวังอย่างตระหนัก แต่ไม่ตระหนก
ด้วยความปรารถนาดีจากศูนย์ประสานงานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช