เตรียมความพร้อมป้องกันเด็กเปราะบาง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์
เพราะเด็กและเยาวชนในสถานรองรับถือเป็นอีกกลุ่มเด็กเยาวชนที่มีความเปราะบาง ขาดโอกาสในชีวิต ทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นเมื่อต้องก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยไปสู่การใช้ชีวิตในสังคมภายนอก
กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท.) ได้ร่วม ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานรองรับเด็กของ ดย.ภายใต้โครงการเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคมอย่างเป็นสุข เพราะเด็กและเยาวชนในสถานรองรับถือเป็นอีกกลุ่มเด็กเยาวชนที่มีความเปราะบาง ขาดโอกาสในชีวิต ทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นเมื่อต้องก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยไปสู่การใช้ชีวิตในสังคมภายนอก
ดร.สมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กล่าวว่า สถานรองรับเด็กคือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่คนจะรู้จักกันในชื่อของสถานสงเคราะห์ จะดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี บริบูรณ์ โดยรัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุน ปัจจุบันทั่วประเทศมีสถานรองรับเด็ก 30 แห่ง มีเด็กและเยาวชนอยู่ในการอุปการะ 6,513 คน ถ้ารวมยังมีบ้านพักเด็กอีก 76 บ้าน รวมทั้งหมดเด็กกว่า 8,000 คน
"เมื่อเด็กอายุ 18 ปีบริบูรณ์ต้องออกจากสถานรองรับไปเพราะรัฐบาลจะไม่สนับสนุนเงินในการดูแลเด็กแล้ว แต่ปรากฏว่าหลายคนออกไปไม่ได้ จึงต้องพยายามส่งเด็กให้ไปเป็นบุตรบุญธรรมเร็วที่สุด อบรมทักษะอาชีพให้ แต่ในความจริงเด็กกลุ่มนี้ไปสู่อาชีพได้ประมาณ 10% กรมเห็นว่าต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้จึงเกิดความร่วมมือดังกล่าวขึ้น" ดร.สมคิดระบุถึงปัญหา
ดร.สมคิด กล่าวด้วยว่า ดย. ได้กำหนดให้มีนโยบายการพัฒนาระบบคุณภาพสถานรองรับเด็ก ในสถานรองรับเด็ก และภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ดย.จะร่วมกับ สสส.และ สวท.ทำงาน โดยได้คัดเลือกสถานรองรับนำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ 1.สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านปากเกร็ด 2.สถานสงเคราะห์เด็กหญิงอุดรธานี 3.สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านราชสีมา 4.สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านเชียงใหม่ และ 5.สถานสงเคราะห์เด็กปัตตานี โดยมีกรอบความร่วมมือ 3 ปี ตั้งแต่กันยายน 2561-สิงหาคม 2564 โดยตั้งเป้าให้ทั้ง 5 แห่งเป็นต้นแบบในการจัดสวัสดิการด้านเด็กและเยาวชนและเป็นศูนย์การเรียนรู้ และสามารถขยายผลการดำเนินงานไปสู่สถานรองรับเด็กอื่น ๆ ทั้ง 16 แห่ง ในประเภทสถานรองรับเด็กอายุ 6-18 ปี ทั้งหญิงและชาย จำนวน 2,620 คน รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและระบบบริหารจัดการองค์กรที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สสส.และ สวท.มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในสถานรองรับให้มีคุณภาพ โดยจะสนับสนุนทั้งในเชิงวิชาการ ด้วยการสร้างเครื่องมือเทียบระดับ (BENCH MARKING) ตลอดจนรับโจทย์จากสถานรองรับต้นแบบทั้ง 5 แห่งที่ต้องการให้แก้ไขมากำหนดแนวทางการพัฒนาเด็กในสถานรองรับเด็ก รวมถึงจะมีการอบรมพัฒนาบุคลากร ขณะเดียวกัน จะเชื่อมโยงความร่วมมือไปสู่ชุมชนโดยรอบเพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็กและเยาวชนในสถานรองรับเด็ก
"เด็กกลุ่มนี้เปราะบางในบางเรื่อง เขาต้องการการดูแลมากเป็นพิเศษ ขณะที่รัฐเองก็มีข้อจำกัด ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ยากและทำงานเพียงลำพังไม่ได้ เพราะเรื่องสุขภาวะแก้ไม่ได้ด้วยองค์กรเดียว หรือแก้แค่หมอ แค่ให้ยา แต่ต้องทำร่วมกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และพัฒนาศักยภาพในการพึ่งตนเอง เน้นผลลัพธ์ที่ ตัวเด็กและเยาวชน" ดร.สุปรีดา กล่าว
ด้าน ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล นายก สวท. กล่าวว่า สวท.จะดำเนินการตามแผนงาน ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ปี ซึ่งแผนการทำงานมี 3 เรื่อง คือ 1. พัฒนากระบวนการและชุดความรู้สำหรับการพัฒนาระบบคุณภาพสถานรองรับเด็ก 2. พัฒนาบุคลากรผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานในระบบบริการหลักของสถานรองรับเด็ก และ 3. สนับสนุนให้สถานสงเคราะห์ต้นแบบ 5 แห่ง เป็นสถานสงเคราะห์เปิด ทำงานแบบมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ และมีบุคลากรดูแลเด็กที่มีศักยภาพตามตัวชี้วัดในระบบหลักทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการเรียนรู้ , ด้านการดูแลสวัสดิภาพ และความปลอดภัย, ด้านนันทนาการ และด้านการศึกษาและวิชาชีพ
"ที่บ้านมีเด็กอยู่ในการดูแล 145 คน ด้วยความเป็นเด็กชายมีหลายวัย มีพื้นฐานปัญหามาอยู่รวมกันทำให้ค่อนข้างเกิดปัญหาเรื่องของระเบียบวินัย พฤติกรรมก้าวร้าว การทะเลาะวิวาทของน้องกับพี่ที่วัยต่างกัน ยังมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ติดเชื้อเอชไอวีด้วย ซึ่งที่บ้านส่งเสริมเรื่องการเรียนศึกษา แต่ต้องยอมรับว่าเด็กบางคนก็มีภาวะสมาธิสั้น ขณะที่บุคลากรที่มาดูแลก็ยังขาดความรู้ด้านจิตวิทยาคลินิกโดยตรง" นางองค์ เจริญวัย ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านเชียงใหม่ บอกเล่า