เด็กๆ ฉงนการเมือง ไฉนผู้ใหญ่คอรัปชัน
ปัญหาคอรัปชันในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการเมืองและวงราชการ นับวันยิ่งน่ากลัว ปัญหาเหล่านี้ เยาวชนมองและมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร
สาเหตุของคอรัปชัน “มาจากสิ่งที่คนเราต้องการ แล้วไปได้มันมาในทางลัด” นายปฏิภาณ บุณฑริก หรืออิฐ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เข้าแข่งขันทูตความดี กล่าว อันเป็นโครงการของกระทรวงวัฒนธรรม สถาบันวิมุตตยาลัย สสส. และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ฯลฯ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อ ปลูกฝังจิตสำนึกดีงามแก่เยาวชน และกระตุ้นให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม
อิฐอยู่ทีม d1 ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศ เสนอแนวคิดเรื่อง “คิดดี ไม่คิดโกง” โดยเสนอความคิดผ่านหนังสั้น เรื่องครองโลก เดินเรื่องด้วยพ่อและลูก ผนวกกับการ์ตูนเรื่อง god star มีเนื้อหาเกี่ยวกับการโกง มุ่งนำเสนอการให้ข้อคิดเรื่องคอรัปชันแบบเข้าใจง่าย ความยาวประมาณ 5 นาที
“ตอนเด็กๆเรารู้สึกว่า คอรัปชันเป็นเรื่องไกลตัว ยังไม่เกี่ยวกับตัวเรา ไม่รู้สึกว่าจะมาสร้างผลอะไรให้กับเราได้ เมื่อเรียนมหาวิทยาลัยก็ทำให้รู้จักว่าคอรัปชันคืออะไรอย่าง แท้จริง เราจะได้ยินข่าวออกมามากมายว่า คนโน้นคอรัปชัน คนนี้คอรัปชัน เริ่มรู้ว่าคอรัปชันเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก และยิ่งมาทำโครงการทูตความดี ทำให้เราได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับคอรัปชันหลากหลายขึ้น”
ที่สำคัญทำให้รู้ว่า “คอรัปชันอาจจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ เหมือนมันเป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆ ปัญหาที่ตามมา”
ทำไมคนถึงคอรัปชัน “เพราะว่าเห็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม น่าจะมาจากกระแสทุนนิยม จุดเริ่มต้นจริงๆก็มาจากความโลภ ไม่รู้จักความพอเพียง ความสุขที่เขาต้องการเป็นด้านวัตถุและอยากได้มากเกินไป”
แนวทางแก้ปัญหา อิฐบอกว่า “ต้องแก้ที่เด็กก่อน เรามองในเรื่องของสื่อ เราต้องใช้สื่อเสนอความคิดให้กับเด็ก เด็กจะได้เข้าใจด้วยการสื่อให้ง่ายที่สุด ถ้าเราใส่ความบันเทิงที่เด็กชอบลงไป สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการคอรัปชันไปว่า มันไม่ดีอย่างไร ผิดอย่างไร เพื่อให้เด็กเกิดความคิดขึ้นมา”
สำหรับในหนังสั้นที่อิฐและเพื่อนๆ สอดแทรกเข้าไปนั้น “เราใช้เปรียบเทียบในครอบครัว เป็นเรื่องของพ่อกับลูก เราพูดประเด็นหลักก็คือ มีการ์ตูนตัวดีกับตัวร้าย ตัวร้ายจะยึดครองโลกด้วยการปลูกฝังความเชื่อแห่งความคดโกง เข้าไปในจิตสำนึกของมนุษย์ ทีละคนๆ ขณะที่ลูกมองพ่อเหมือนเป็นพระเอกที่จะไปปราบเหล่าร้าย ไปขจัดความโกง เพราะพ่อจะสอนลูกอยู่ตลอดเวลาว่า โตขึ้นไปอย่าไปโกงเขา ประเทศจะไม่เจริญ ลูกเลยเห็นพ่อเป็นฮีโร่ แต่เมื่อพ่อขับรถฝ่าไฟแดง แล้วจะหยิบเงินให้ตำรวจ ภาพในความรู้สึกของเด็กที่มองว่าพ่อเป็นฮีโร่นั้น กลายเป็นตัวร้าย เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า สิ่งดีกับสิ่งไม่ดีเป็นอย่างไร สุดท้ายเด็กก็ถามพ่อว่า ที่พ่อทำอย่างนี้ พ่อจะครองโลกหรือไง”
อิฐยังบอกว่า หนังสั้นของพวกเขา ได้นำไปฉายให้เด็กๆ ดู แล้วมีการทดสอบความเข้าใจของเด็กๆ เรื่องคอรัปชันด้วย “เราถามเด็ก หรือไม่ก็ให้เขาเล่าเรื่องว่าใครเป็นอย่างไร ใครทำผิด ถ้าเขาอยู่ในเหตุการณ์จะทำอย่างไร เหมือนเป็นการดึงเขาให้เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่อง เด็กมีการตอบรับดี ตอนแรกๆ เราก็กลัวเหมือนกันว่า จะสื่อไม่ถึงเด็ก เมื่อทราบว่าเขาเข้าใจความหมายของคอรัปชัน ก็แสดงว่าเด็กรับได้”
กิจกรรมของทูตความดี เมื่อไปถึงโรงเรียนแล้วก็ยังให้เด็กๆ ประทับรอยฝ่ามือไว้ พร้อมกับคำปฏิญาณว่าจะไม่โกงอีกด้วย ด้วยหวังว่าเมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะได้ไม่โกง
สาเหตุ ของคอรัปชัน “ผมว่ามาจากความโลภอย่างแรก โลภมากๆก็ขาดสติไม่รู้ว่าอะไรผิดถูก แม้จะรู้ว่าผิด แต่เมื่อโลภถึงจุดแล้ว ความผิดตรงนั้นจะมองข้ามไป จะเอาในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ก็คือเงิน มองข้ามขั้นของความละอายไป การเมืองเดี๋ยวนี้กลายเป็นว่า ทุกคนอยากได้ตำแหน่ง อยากได้อำนาจ เพื่อที่จะหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง โดยที่ไม่สนใจประโยชน์ของประเทศชาติ” นายจิรัฏฐ์ จงมั่นคง หรือแท็งค์ จากทีม d3 ทูตความดีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เสนอแนวคิด เสพดีไม่เสพยา แสดงความเห็นเรื่องสาเหตุของคอรัปชันในวงการเมือง
ก่อนบอก แนวทางแก้ว่า “คนที่ตายด้านก็ต้องปล่อยให้เขาตายไป แต่ว่าคนทั้งประเทศสามารถช่วยได้ คือ หนึ่ง-มาใช้สิทธิเลือกตั้ง สอง-ก่อนเลือกตั้งควรศึกษาข้อมูลก่อนที่จะเลือกใคร ใครดีใครไม่ดีหรือว่าอย่างไร แล้วการซื้อสิทธิ์ขายเสียงก็ไม่อยากให้มี ถึงมี ถ้าเราเอาตังค์มาสิทธิ์ก็ยังอยู่ในมือของเรา จะเลือกใครก็ได้ ศึกษาข้อมูลดีๆ จะเลือกใครมันอยู่ที่เราทุกคน”
แท็งค์ ย้ำว่า “ถ้าเราไม่ขายเสียง คนชั่วก็เข้ามาบริหารประเทศไม่ได้ จะแก้ที่ตัวนักการเมืองมันก็ยากแล้ว ต้องมาแก้ที่ตัวเรา แก้ที่ทุกคน ถ้าอยากให้ประเทศชาติเจริญก็ต้องศึกษาข้อมูล แล้วใช้สิทธิอย่างถูกต้อง แต่ถ้าจะแก้ที่การเมือง ผมก็ว่าต้องรอรุ่นหลังแล้วละครับ รุ่นนี้ตายด้านไปหมดแล้ว”
ขณะที่ นายธิติพนธ์ แย้มศรี หรือโต้ ทีม d1 ทีมเดียวกับอิฐ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ต้นเหตุสำคัญของคอรัปชันก็คือ “สิ่งที่ทรงพลังที่สุดในประเทศเรา นั่นคืออำนาจกับเงิน ถ้าใครมีสองสิ่งนี้พร้อมกันจะยิ่งทรงพลังเข้าไปใหญ่ ผมเห็นง่ายๆ แค่การเมืองระดับท้องถิ่นต้องมีการกู้เงินกันมากมายแล้ว ถามว่ากู้เงินเพื่อมาลงทุนตั้งพรรคหรือเปล่า ก็เปล่า แต่กู้เงินมาซื้อเสียง แล้วสมมติว่ามีผู้สมัครห้าคน จะมีคนเดียวเท่านั้นที่ได้ตำแหน่ง ที่เหลือเกิดอะไรขึ้น คำตอบก็คือติดหนี้”
ดังนั้น “ปัญหาของเราก็คือ สภาพแวดล้อมของเราที่เอื้อให้ทุกคนไขว่คว้าหาอำนาจ”
การ แก้ปัญหา “อันดับแรก ผมขอตอบว่าต้องแก้ที่เด็กก่อน แต่ก่อนที่จะแก้ที่เด็กนั้น เหมือนเราจะปลูกต้นไม้ใหม่ เราก็ต้องถอนกาฝากหรือของเก่าๆ ทิ้งไปให้หมดก่อน ผมว่านักการเมืองในปัจจุบันไม่เชิงสิ้นหวังเสียทีเดียว มันเหมือนผ้าที่มีรอยเปื้อนที่สามารถซักให้สะอาดได้ ประเด็นก็คือเราไม่ค่อยซักฟอกกันอย่างแท้จริง เรามักจะใช้ผงซักฟอกราคาถูกจนผงนั้นมันไม่ออกไป ถ้าเราจะเปลี่ยนประเด็นในการหาเสียงที่เสนอประชานิยม ผลโหวต อะไรเหล่านี้ มาเป็นแสดงสถานะทางการเงินของนักการเมือง โดยทำเป็นเล่ม ให้รู้กันทั้งประเทศเลยว่าใครมีอะไรบ้าง ผมว่าน่าจะดีกว่า และควรจะทำประจำเหมือนตรวจสุขภาพประจำปี”
พลาง สรุปว่า “เมื่อสิ้นปีทำที วันหนึ่งเราซักฟอกเรียบร้อยแล้ว ถ้า เป็นดินก็จะเป็นดินที่มีสารอาหารครบถ้วน และเราก็เริ่มปลูกต้นไม้ไปพร้อมๆ กันได้”
สุภินัทธ์ เนรมิตพานิชย์ หรือป๊อป ทีม d3 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทีมที่เสนอแนวคิด เสพดีไม่เสพยา บอกว่า “ผมว่าคอรัปชันสมัยนี้มันอยู่ที่เย็นชาหรือความเพิกเฉยของ ข้าราชการ ประชาชน และนักการเมืองด้วย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา และไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว มองว่าเป็นเรื่องคนอื่น เห็นว่าเรื่องของประเทศชาติที่เขาใช้เงินภาษีเป็นเรื่องไกลตัว เป็นความเย็นชาของคนทั่วไป และบางส่วนเขาก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้ ความโลภก็เป็นประเด็นเดียวกับที่เพื่อนๆพูดมา ข้าราชการและการเมืองได้ตรงนี้ด้วย ก็เลยกลายเป็นขบวนการที่ทำให้เกิดคอรัปชันและทุกสิ่งทุกอย่าง ฝักรากลึกไปแล้ว จนเด็กเดี๋ยวนี้มองว่า คอรัปชันเป็นเรื่องธรรมดา เอาแค่ว่าบริหารบ้านเมืองให้เจริญก็พอแล้ว”
แนวทางแก้ ป๊อปบอกว่า “การแก้ปัญหาจริงๆ ต้องกระตุ้นเตือนกันบ่อยๆ ตั้งแต่เด็กไปเลย เพราะเด็กสมัยนี้อาจมองว่านักการเมืองไม่ดี ทุกสิ่งทุกอย่างที่ฟังมาเขาก็พูดออกมาว่านักการเมืองไม่ดี เราไม่ไปยุ่งดีกว่า มันเหมือนกับว่า ฟังมาอย่างไรก็พูดไปอย่างนั้น เขาไม่ได้ศึกษาว่า มันไม่ดีน่ะ มันไม่ดีอย่างไร แล้วควรจะแก้ไขอย่างไร เหมือนว่า ฟังมาอย่างไรก็พูดไปอย่างนั้น”
ป๊อปเสนอว่า “เราต้องกระตุ้นเขาบ่อยๆว่า ควรหันมาดูแลการเมืองกันบ้าง เด็กสมัยนี้ ไม่สนใจการเมืองเหมือน 16 ตุลา สมัยก่อนการเมืองเข้มข้น เดี๋ยวนี้ไม่มีสักนิดเดียวที่เห็นความไม่ชอบธรรมแล้วไปประท้วง อาจจะเพราะว่ากลัวร้อน หรือเพราะว่าไม่ใช่เรื่องแฟชั่นเลยไม่สนใจ แล้วประเทศชาติไปอยู่ตรงไหน เด็กที่จะโตขึ้นไปฝากความหวังได้ไหม เพราะฉะนั้นต้องกระตุ้นเตือนบ่อยๆ มีภารกิจปลูกฝังปลูกจิตสำนึกตั้งแต่ต้น”
อิฐสรุปตบท้ายว่า “ปัญหาคอรัปชันในเมืองไทย แก้ที่ผู้ใหญ่อาจจะสายเกินไป เราอาจจะต้องมาเริ่มต้นกับเด็ก และต้องใช้เวลา เราจะไม่เห็นผลวันสองวัน แต่จะเห็นผลที่ยั่งยืนต่อไป”
ผู้ใหญ่ และนักการเมืองเห็นด้วยกับเยาวชนทูตความดีหรือไม่ ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่า เราจะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างไรดี
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ