เด็กไทย 5-14 ปี ว่ายน้ำเป็นแค่ 23.7%
ผลสำรวจเด็กไทย 5-14 ปี ว่ายน้ำเป็นแค่ 23.7% ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทย
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2546-2556) มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตแล้วถึง 12,982 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3.6 คน ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน (มี.ค.-พ.ค.) มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด รองลงมา คือ เดือนตุลาคม ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอมของเด็กเช่นเดียวกัน โดยตั้งแต่ปี 2546-2556 เดือนตุลาคมเดือนเดียวมีเด็กจมน้ำ 1,249 คน เด็กในกลุ่มวัยเรียนเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญโดยเฉพาะช่วงปิดเทอม และในกลุ่มเด็กวัยนี้ หัวใจสำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันไว้ที่ตัวเด็กหรือการส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า คร.ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินผลการว่ายน้ำเป็นของเด็กไทยอายุ 5-14 ปี พบว่าเด็กไทยช่วงอายุดังกล่าว ซึ่งมีกว่า 8 ล้านคน ว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 23.7 หรือประมาณ 2 ล้านคน แต่สามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้เพียงร้อยละ 4.4 หรือ 367,704 คน และพบว่าเด็กที่เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด จะมีทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำ มากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนถึง 20.7 เท่า มีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำมากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนถึง 7.4 เท่า และจะมีทักษะการช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำ และการแก้ไขปัญหาและการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน มากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนถึง 2.7 เท่า และ 2.8 เท่า ตามลำดับ ซึ่งการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้เป็นมาตรการหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันการจมน้ำได้โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเรียน
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน