เด็กไทยไม่อ้วน เสพสื่อสร้างสรรค์

ที่มา: กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ


เด็กไทยไม่อ้วน เสพสื่อสร้างสรรค์ thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) คาดหวังเด็กไทยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เสพสื่อที่สร้างสรรค์ และออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง


นายแพทย์ภัทรพล  จึงสมเจตไพศาล  รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  กล่าวว่าเด็กไทยมีภาวะเริ่มอ้วนในเด็กวัยเรียน ร้อยละ 12.2 (ข้อมูลจาก HDC สนย, 2559) ที่มีสาเหตุเกิดจากเด็กรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่จากน้ำตาลหรือไขมันสูง โดยมีโปรตีน วิตามินหรือเกลือแร่ต่ำ หรืออาหารขยะ (junk food) และเด็กนิยมรับประทานของทอด ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ เพราะถูกปาก สะดวกง่ายในการรับประทาน ซึ่งล้วนมีสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคอ้วน และปัญหาที่พบสำหรับเด็กในปัจจุบัน คือ การเสพสื่อออนไลน์ของเด็กที่ต้องอยู่กับสื่อต่างๆ มากถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน  เด็กในยุคปัจจุบันโตมากับเทคโนโลยี เรียนรู้การใช้งานมือถือได้อย่างรวดเร็ว       ซึ่งเป็นดาบสองคม ด้านลบ คือ ทั้งภาพ เสียง และการใช้ภาษาในสื่อออนไลน์เต็มไปด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ส่งผลให้เด็กมีอาการก้าวร้าว เก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่สุงสิงกับใคร และต้องการให้ตนเองเป็นที่ยอมรับในโลกสังคมโซเชียล


นายชาญยุทธ  พรหมประพัฒน์  ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่า แนะผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการดูแลเด็กในวัยเรียน โดยให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติ เพราะเด็กวัยเรียนสามารถเรียนรู้ และจดจำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งผู้ปกครองควรใส่ใจในการเลือกซื้ออาหารที่มีประโยชน์ เนื้อ นม ไข่ให้เด็กรับประทานเพื่อเพิ่มโปรตีน และทานอาหารที่มีไขมันสำหรับเพิ่มพลังงานให้กับเด็ก รวมถึงผัก ผลไม้ที่ช่วยในการขับถ่าย  ด้านการเสพสื่อควรสอนให้รู้ถึงข้อดีข้อเสียในการเสพสื่อ เพิ่มเวลาในการทำกิจกรรมนอกบ้าน นอกเหนือจากการเล่น smart phone บนมือถือ แต่ไม่ใช่ลักษณะของการห้ามเล่นมือถือหรือว่ากล่าวที่ทำให้เกิดการอับอาย ยิ่งเป็นแรงเสริมทำให้เด็กมีอาการก้าวร้าว และทำให้เกิดการต่อต้านทั้งนี้ ผู้ปกครองควรพาเด็กออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือกีฬาที่เด็กชื่นชอบ ทำให้เด็กวัยเรียนพร้อมก้าวสู่โลกแห่งการเรียนรู้ ในการเปลี่ยนแปลงเพื่อเติบโตเข้าวัยหนุ่ม สาว ทีมีพื้นฐานทางร่างกายและสภาพจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรง


ทั้งนี้ ผู้ปกครองและเยาวชนสามารถศึกษาข้อมูลข่าวสารความรู้ด้านสุขภาพที่น่าสนใจได้ที่คลังความรู้ด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (healthydee.moph.go.th) หรือทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป และเว็บไซต์ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code