เด็กไทยแชมป์เอเชียใช้ ‘เน็ต-มือถือ’ มากสุด

          วธ.เผยเด็กไทยคว้าแชมป์เอเชีย ใช้ “เน็ต-มือถือ” ต่อวันมากที่สุด ส่งผลกระทบต่อสมองและการเข้าร่วมสังคม เร่งจัดทำคู่มือภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันสื่อโซเชียล ด้านจักษุแพทย์แนะผู้ที่มีอาการตาแห้ง แสบตาหลังดูจอมือถือ หรือจอคอมพิวเตอร์ ไม่จำเป็นต้องหยอดตา วิธีแก้ไขที่ถูกต้องคือดื่มน้ำบ่อยๆ และหลับตาเพื่อพักสายตาจะช่วยได้

/data/content/23634/cms/efknqrtyz156.jpg

         นายปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการสร้างยุทธศาสตร์สร้างภูมิคุ้มกันของสังคมในมิติวัฒนธรรม (Cultural Vaccine) ว่า ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนใช้โทรศัพท์มือถือทั้งในการเล่นเกม เข้าอินเตอร์เน็ต และที่กำลังเป็นที่นิยมคือการแชตผ่านไลน์ ทวิตเตอร์ รวมถึงเฟซบุ๊กที่เข้าถึงได้ง่าย เสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่มีวุฒิภาวะเท่าทันสื่อถูกล่อลวงกระทำชำเราเป็นข่าวรายวัน ในขณะที่ผู้ปกครองก็ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน รวมถึงสำรวจการใช้โทรศัพท์อย่างใกล้ชิดทำให้ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ติดโทรศัพท์และมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจำนวนมาก

          นายปรีชา กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว วธ.จึงร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย จัดทำคู่มือขับเคลื่อนการสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมในมิติวัฒนธรรม ประกอบด้วยการรู้เท่าทันสื่อ ได้แก่ การรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ โฆษณา ละคร/ภาพยนตร์ รู้เท่าทันข่าว รู้เท่าทันเพลง อินเตอร์เน็ต เกมโทรศัพท์มือถือและโซเซียลมีเดีย โดยแนะนำการใช้สื่อ รวมถึงภัยร้ายที่มากับอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โรคติดมือถือ เป็นต้น

          “จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2554 คนไทยเริ่มใช้เทคโนโลยีตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป โดยเยาวชนอายุ 15-24 ปี ใช้อินเตอร์เน็ตร้อยละ 51.9 และร้อยละ 42.2 ใช้โทรศัพท์มือถือเล่นเกม และที่น่าสนใจเยาวชนไทยใช้อินเตอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์และมือถือสูงถึง 3.1 ชั่วโมงต่อวันครองแชมป์อันดับ 1 ในเอเชีย โดยการติดอินเตอร์เน็ตนี้ เป็นการติดทั้งสังคมออนไลน์ เกม พนันออนไลน์ และติดเว็บลามก นอกจากนี้ ยังการวิจัยยังพบว่า เยาวชนที่ติดอินเตอร์เน็ต จะมีขนาดสมองส่วนหน้าเล็ก และมีการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทของสมองส่วนหน้าลดลง ขาดทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรใส่ใจรู้เท่าทันสื่ออย่างรอบด้าน รวมทั้งตรวจสอบการใช้อินเตอร์เน็ตของบุตรหลาน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังภัยใกล้ตัวที่จะเกิดขึ้นกับบุตรหลานของตนเองด้วย”

          น.พ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประชาชนมักจะอยู่กับเครื่องมือสื่อสารเกือบตลอดเวลา โดยการนอนดูแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนข้างเดียว เมื่อดูติดต่อกันนานๆ อาจจะมีผลต่อบุคลิกไม่รู้ตัว เด็กบางคนจะเดินคอเอียงๆ บางคนไม่รู้ตัว เคยพบมาแล้วเป็นเด็กอายุ 7 ปี เดินคอเอียง เนื่องจากนอนเล่นแท็บเล็ต ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้เกิดจากความเคยชิน เหมือนเช่นบางคนขณะอยู่เฉยๆ แต่เคาะโต๊ะเล่น หรือเขย่าเท้าเล่น

          นอกจากนี้ การใช้สายตาดูจอมือถือหรือดูคอมพิวเตอร์มากเกินไป จะเกิดปัญหาตาแห้ง ในช่วงหลังๆ มานี้จะพบผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ คือมักไปด้วยอาการแสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว แต่สายตาปกติ และผู้ป่วยมักจะนิยมไปพบจักษุแพทย์เพื่อขอยาหยอดตา เนื่องจากเข้าใจว่าตาติดเชื้อ นับว่าเป็นความเข้าใจผิดและไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาดังกล่าว เนื่องจากสาเหตุที่ตาแห้งเกิดจากแสงจ้าจากจอมือถือและคอมพิวเตอร์ สายตาต้องเพ่งลงที่จอ ติดต่อเป็นเวลานาน นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว จะเกิดผลเสียในอนาคตคือปัญหาการดื้อยา วิธีแก้ไปอาการแสบตาเคืองตาหลังเพ่งจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องคือให้ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อให้น้ำไปหล่อเลี้ยงดวงตาทำให้ตาชุ่มชื้น หรือนั่งหลับตาพักสายตาชั่วครู่ประมาณ 10-15 นาทีก็จะช่วยได้

 

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ