เด็กไทยแก้มใสเราจะโตอย่างเต็มใจ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"1 ห่อ 10 บาทได้ไหม" "ไม่ได้ค่ะ ห่อละ 20" "งั้น 2 ห่อ 40 ได้ไหม" "ไม่ได้ค่ะ… เอ้ย! ถูกแล้ว" ถึงจะเขวไปบ้าง แต่บรรดา เจ้าของแผงผักตัวน้อยๆ ก็รับมือการ "เย้า" ด้วยความเอ็นดูของเหล่าลูกค้าตัวโตที่แวะเวียนมาเยี่ยมชมได้เป็นอย่างดี และทำให้บรรยากาศคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นี่เป็นสีสันส่วนหนึ่งของงาน "เปิดบ้าน เด็กไทยแก้มใส ถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ" ที่โรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา ศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบโครงการเด็กไทยแก้มใส จ.สมุทรปราการ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา "เด็กไทยแก้มใส" เป็นโครงการ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับ กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่าย จัดทำขึ้นเพื่อตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงดำเนินงานพัฒนาด้านอาหารโภชนาการ และสุขภาพในเด็กและเยาวชนในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
ตลอดมาภาวะโภชนาการของเด็ก และเยาวชนถือเป็นประเด็นสำคัญที่ ท้าทายสังคมไทยอยู่เสมอ โดยเฉพาะในรั้วโรงเรียน ตัวเลขจากรายงานสถานการณ์ภาวะโภชนาการปีการศึกษา 2559 ก็ระบุชัดเจนว่า "ภาวะอ้วน-เตี้ย-ผอม" ยังคงเป็นปัญหาในระดับประเทศอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภาคกลางมีเด็กที่อยู่ในภาวะเริ่มอ้วน – อ้วน สูงกว่าร้อยละ 40 ขณะที่ภาคเหนือประสบปัญหาเด็กเตี้ยถึง ร้อยละ 34 ส่วนเด็กอีสานกว่าร้อยละ 29 ก็กำลังเผชิญวิกฤติผอมเกินไป ซึ่งภาวะดังกล่าวนอกจากจะ ส่งผลถึงการเจริญเติบโตตามวัยแล้ว ยังมีผลต่อสภาพจิตใจ และอารมณ์ของเด็กอีกด้วย การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มจากการจัดการเรื่องโภชนาการในโรงเรียน
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ปัญญา ไข่มุก กรรมการทรงคุณวุฒิ สสส. ได้กล่าวเสริมว่า การมีโภชนาการที่ดี และสุขภาพที่แข็งแรงนับเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะส่งเสริมให้เด็กทุกคนเจริญเติบโต และพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ เป็นคนมีคุณภาพของ สังคมไทย อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมา เด็กไทยในวัยเรียนจำนวนมากขาดแคลนอาหารกลางวัน และมีปัญหาการขาดสารอาหาร จนทำให้มีน้ำหนัก และมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์จึงส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และ การเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ ถึงแม้หลายหน่วยงานได้ร่วมกันแก้ไขแต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมเด็กในวัยเรียนได้ทั้งประเทศ ยังมีเด็กนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวโดยลำพัง ทั้งนี้เพราะเด็กเหล่านี้อาศัยอยู่ตามชายขอบ ของประเทศในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก มีสภาพทางภูมิศาสตร์ ไม่เหมาะสม จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการ จัดบริการขั้นพื้นฐานของรัฐไม่ว่าจะเป็น การศึกษา บริการสาธารณสุข ตลอดจนสาธารณูปโภคต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตทำให้เด็กในพื้นที่เหล่านี้ ขาดโอกาสในการพัฒนามากกว่าเด็กในพื้นที่ส่วนอื่นของประเทศ จึงเกิดโครงการดังกล่าวขึ้น
สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษาโครงการ ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส อธิบายว่า ถึงวันนี้ตัวโครงการดำเนินการมากว่า 3 ปีแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสุขภาพ และโภชนาการของเด็กตามแนวพระราชดำริที่สมเด็จพระเทพฯทรงงานไว้ 8 แนวทาง ได้แก่ การเกษตรในโรงเรียน สหกรณ์นักเรียน การจัดการบริการอาหารของโรงเรียน การติดตามภาวะโภชนาการ การพัฒนาสุขนิสัยของนักเรียน การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนให้ถูกสุขลักษณะ การจัดบริการสุขภาพ และการจัดการเรียนรู้ เกษตร โภชนาการ และสุขภาพอนามัย
"การดำเนินโครงการผ่านโรงเรียนต้นแบบ 544 โรงถึงวันนี้เป็นเวลา 3 ปีแล้ว ที่ทำงานมา เราก็ได้รูปแบบการดำเนินงานมาใช้ อย่างการส่งเสริมการเกษตรเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เป็นยุวเกษตรกรเพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ต่อมาเป็นการขายผลผลิตให้กับสหกรณ์นักเรียน แล้วนักเรียนก็เอาไปขายต่อให้โรงครัว โรงครัวก็เอาไปทำอาหารที่มีคุณค่าและถูกหลักโภชนาการมาให้กับเด็ก ก็จะทำให้เด็กมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น" ที่ปรึกษาโครงการกล่าว
อย่างในพื้นที่ของเมืองปากน้ำนั้น มีเด็กตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ 165,600 คน ในจำนวนนี้มีเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคในอนาคต หรือ เด็กที่มีภาวะอ้วนถึงร้อยละ 15.9 เด็กขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตระยะยาวทำให้มีภาวะผอม ร้อยละ 9.7 และภาวะเตี้ยร้อยละ 8.42
ที่นี่มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ปี 2557 จำนวน 8 แห่ง โรงเรียน แพรกษาวิเทศศึกษาก็เป็นหนึ่งในนั้น ภาคินัย สุนทรวิภาต ผู้อำนวยการโรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา เล่าว่า ทางโครงการมีแนวทางที่น่าสนใจจึงสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนกับภาวะโภชนาการของเด็กนักเรียน รวมทั้งพัฒนาการในมิติอื่นๆ ด้วย "นอกจากเด็กๆ จะมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีความสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว ก็ยังมีพัฒนาการที่สมวัยอีกด้วย เพราะเด็กของเราเป็นเด็กเล็กเรื่องพัฒนาการจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเขาได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี ได้รับอาหารที่ดี ได้รู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เขาก็จะสามารถเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้"
การขยับของระดับบริหารส่งผลให้เกิดการเดินหน้าทำงานในระดับปฏิบัติการด้วย การแบ่งงานให้ทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาลจนถึงชั้นประถมปลายที่โรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอน โดยใช้แปลงผักสวนครัวเป็นตัว ขับเคลื่อนสร้างความสนใจ และการเรียนรู้ให้กับนักเรียนรวมทั้งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำหรับทำอาหารกลางวันให้นักเรียนในโรงเรียน แต่สิ่งที่ตามมากลับมากกว่านั้น
"พอนักเรียนปลูก เราก็จะได้ผู้ปกครองมาช่วยดูแลอีกแรงหนึ่งด้วยค่ะ" ครูแอน – สาคร นวลคำ รองประธานกิจกรรมเกษตรใน เล่าด้วยสีหน้าเต็มยิ้มพร้อมชี้ให้ดูแปลงผัก หลังโรงเรียนที่ถึงแม้จะหา "ดิน" และ "พื้นที่" ได้น้อย แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา แปลงผักสำหรับไม้เลื้อย หรือการปลูกผักแบบไม่ใช้ดินถูกนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และอาศัยผักที่ดูแลง่าย อาทิ ผักบุ้ง ต้นอ่อนทานตะวัน หรือผักน้ำ แบ่งให้นักเรียนแต่ละช่วงชั้นดูแลแปลงของตัวเอง ซึ่งแต่ละคนก็จะตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองมาก หลังจากที่ผู้ปกครองได้ทราบถึงกิจกรรม ก็มาช่วยลูกดูแลกลายเป็นกิจกรรมของครอบครัวไปอีกทางหนึ่ง "ครูในโรงเรียนก็ดูแลกันไม่พอหรอกค่ะ แต่พอคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกตัวเองปลูกผัก ก็จะมาช่วยดูแลด้วย และทุกสุดสัปดาห์ก็จะมีการเปิดตลาดนัดผักปลอดสารที่โรงเรียน ก็จะเป็นผู้ปกครองอีกนั่นแหละค่ะที่ช่วยซื้อ"
ยิ่งไปกว่านั้น หากถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วล่ะก็ ว่าที่ ร.ต.หญิง วัลลภา หงส์ทอง หัวหน้างานโภชนาการ แม่ครัวใหญ่ประจำโรงครัว ยืนยันเสียงดังฟังชัดว่า เด็กนักเรียนกินผักเก่งขึ้นอย่าง เห็นได้ชัด "เขาจะกินด้วยความภูมิใจเลยค่ะ ว่านี่คือผักที่เขาปลูกเอง ถึงปริมาณผักที่นำมาใช้ปรุงอาหารจะใช้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ของผักทั้งหมดก็ตาม แต่เด็กๆ ก็จะไม่แสดงอาการไม่อยากกินผักเลย ยิ่งไปกว่านั้น รายได้จากการขายผักให้โรงครัวนอกจาก จะหมุนเวียนไปสู่สหกรณ์นักเรียนแล้ว ช่วงปลายเทอมก็จะมีการปันผลให้กับเด็กทุกคนเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เขามีกำลังใจดูแลแปลงผักต่อไปด้วย ซึ่งตัวเด็กๆ เองก็จะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง อีกทั้งได้เป็น ความรู้ติดตัวเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไปในอนาคตได้"
การขับเคลื่อนที่ไปด้วยกันทั้งบ้าน โรงเรียน และชุมชนนั้น ผอ.ภาคินัย ยอมรับว่า ตัวผู้บริหารสำคัญมาก ในการผลักดันการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น ซึ่งเขามองว่าผลที่ได้มานั้นถือว่าเป็นอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนอย่างแท้จริง
วันนี้ โรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษาได้ยกระดับตัวเองก้าวขึ้นไปเป็น ศูนย์เรียนรู้เด็กไทยแก้มใส ร่วมกับ โรงเรียนวัด คลองสวน และโรงเรียนวัดสวนส้ม ดูแลเครือข่ายโรงเรียนในพื้นที่อีกด้วย
"วิทยากรของผมมี 700 กว่าคนครับ เด็กๆ ทุกคนสามารถเล่าเรื่องที่พวกเขาทำได้ เพราะเขาทำกับมือของเขาเอง"
สำหรับความสำเร็จของแพรกษาวิเทศฯ นั้น ที่ปรึกษาโครงการศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส มองว่า "สิ่งสำคัญอยู่ที่ใจ"
"ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารโรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง ถ้ามีใจร่วมกันแล้วคิดว่าเด็กเป็นลูกหลานของเรา แล้วเอาทรัพยากรมาลงขันกัน เดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ผมมั่นใจว่า หลายๆ โรงเรียนก็สามารถประสบความสำเร็จอย่างที่นี่ได้" สง่าบอก
โดยโจทย์ของโครงการหลังจากนี้ คือ การเดินหน้าขยายแนวทางให้ครอบคลุมไปยังโรงเรียนกว่า 3 หมื่นโรงทั่วประเทศ ล่าสุด ได้มีการประสานงานไปยังกองทุนอาหารกลางวัน และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายในการพัฒนาศักยภาพของเด็กเกิดการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างสมดุลทั้ง 4 ด้าน ทั้ง งานวิชาการ คุณธรรมจริยธรรม การลงมือปฏิบัติ และร่างกาย ที่แข็งแรง ต่อไป
เมื่อเด็ก และเยาวชนหมายถึงอนาคตของชาติ การผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจ จึงมีความหมาย ไม่ต่างจากการร่วมสร้างอนาคตของประเทศ ให้ยั่งยืนต่อไปนั่นเอง